yapakking

หญ้าปักกิ่ง ชื่อสามัญ Angel Grass

หญ้าปักกิ่ง ชื่อวิทยาศาสตร์ Murdannia loriformis (Hassk.) R.S.Rao & Kammathy, ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าเป็นชนิด Murdannia bracteata (C.B.Clarke) J.K.Morton ex D.Y.Hong (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Aneilema bracteatum (C.B.Clarke) Kuntze, Aneilema kuntzei C.B.Clarke ex Kuntze, Aneilema nudiflorum var. bracteatum C.B.Clarke, Murdannia bracteata (C.B. Clarke) Kuntze ex J.K. Morton) โดยจัดอยู่ในวงศ์ผักปลาบ (COMMELINACEAE)

สมุนไพรหญ้าปักกิ่ง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หญ้าเทวดา (ทั่วไป), ต้นอายุยืน (คนเมือง), เล่งจือเช่า (จีน), งู้แอะเช่า หนิวเอ้อเฉ่า (จีนกลาง) เป็นต้น

ลักษณะของหญ้าปักกิ่ง

  • ต้นหญ้าปักกิ่ง มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนตอนใต้ แถบสิบสองปันนา จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกขนาดเล็ก จำพวกหญ้าที่มีอายุหลายปี มีความสูงของต้นประมาณ 10-20 เซนติเมตร มีเหง้า แต่ไม่มีลำต้นหลักหรือมีแต่สั้นมาก รากหนา มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 มิลลิเมตร มีขนอยู่หนาแน่น ลำต้นที่มีช่อดอกจะยาวประมาณ 20-60 เซนติเมตร เกิดจากใบกระจุก เลื้อยเกาะ ปล้องยาวได้ประมาณ 10 เซนติเมตร และมีขนสั้นนุ่ม พืชชนิดนี้สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินปนทรายและต้องการแสงแดดแบบรำไร ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำและการใช้เมล็ด มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศจีน ลาว และเวียดนาม โดยมักขึ้นตามดินทรายริมลำธาร ส่วนในประเทศไทยสามารถพบหญ้าปักกิ่งได้ทางภาคเหนือ และพื้นที่อื่น ๆ บ้างประปราย

  • ดอกหญ้าปักกิ่ง ออกดอกรวมกันเป็นช่อเล็ก ๆ โดยจะออกที่ปลายยอด มีประมาณ 1-5 ช่อ ออกรวมกันเป็นกระจุกแน่น (เป็นช่อแยกแขนงแน่น) ก้านช่อดอกยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร มีวงใบประดับคล้ายใบ แต่จะมีขนาดเล็กกว่า ลักษณะของใบประดับค่อนข้างกลมซ้อนกัน เป็นสีเขียวอ่อนบางใสหรือโปร่งแสง มีขนาดประมาณ 4-7 มิลลิเมตร ติดทน เมื่อแห้งจะร่วง ก้านดอกสั้นโค้งเล็กน้อย ยาวได้ประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงมี 3 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่หรือรูปรี ยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร ส่วนกลีบดอกมี 3 กลีบ เป็นสีน้ำเงิน สีฟ้า สีม่วงอ่อน สีม่วงน้ำเงิน หรือสีบานเย็น หลุดร่วงได้ง่าย ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปไข่กลับเกือบกลม ดอกมีเกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ 2 อัน มีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน 3-4 อัน ก้านชูอับเรณูมีขน รังไข่ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ส่วนเกสรเพศเมียยาวได้ประมาณ 3 มิลลิเมตร

  • ผลหญ้าปักกิ่ง ที่ปลายต้นมีผล ผลเป็นผลแห้งและแตกได้ ผลเป็นแคปซูลรูปสามเหลี่ยมรี ๆ กว้าง ยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร แตกออกเป็นช่อง 3 ช่อง ในแต่ละช่อจะมีเมล็ด 2 เมล็ด ผิวสีน้ำตาลอมเหลืองมีริ้วเป็นร่างแห

สรรพคุณของหญ้าปักกิ่ง

  1. ในประเทศไทยมีผู้นำหญ้าปักกิ่งมาใช้เพื่อรักษาอาการของโรคมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งในลำคอ มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งมดลูก มะเร็งตับ มะเร็งผิวหนัง และมะเร็งเม็ดเลือด มะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia - ลูคีเมีย) เป็นต้น ด้วยการนำหญ้าปักกิ่ง 6 ต้น ที่ล้างน้ำสะอาดแล้ว นำมาปั่นหรือตำให้แหลก เติมน้ำ 4 ช้อนโต๊ะ แล้วคั้นเอาแต่น้ำแบ่งครึ่ง ใช้ดื่มก่อนอาหารเช้าครึ่งชั่วโมงและช่วงก่อนนอนรวมเป็น 2 ครั้ง (ทั้งต้น)

  2. ช่วยปรับระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ด้วยการรับประทานยา (น้ำคั้นหญ้าปักกิ่ง) นี้ไม่เกิน 4-6 สัปดาห์ และควรมีช่วงหยุดยา โดยให้รับประทานยาติดต่อกัน 5-6 วัน แล้วให้หยุดยา 4-5 วัน ทำเช่นนี้จนครบกำหนด (ทั้งต้น)

  3. ช่วยทำให้ร่างกายสดชื่น บำรุงพลัง และช่วยปรับสมดุลในร่างกาย ทำให้อวัยวะต่าง ๆ ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ทั้งต้น)

  4. ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ ด้วยการนำหญ้าปักกิ่งที่ถอนสด ๆ รวมราก มาล้างให้สะอาด นำมาต้มกับน้ำ หลังเดือดแล้วให้เติมน้ำผึ้งพอประมาณ ใช้ดื่มวันละ 3 เวลา จะช่วยทำให้มีสุขภาพแข็งแรง อายุยืนยาว ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ (ทั้งต้น)

  5. ใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่มีเม็ดเลือดขาวต่ำ มีอาการอ่อนเพลีย น้ำหนักตัวลด เมื่อใช้สมุนไพรหญ้าปักกิ่ง จะพบว่าเม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้น น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น (ทั้งต้น)

  6. หมอยาพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานีจะใช้ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด รักษาเบาหวาน (ทั้งต้น)

  7. ช่วยป้องกันและบำบัดโรคความดันโลหิตสูงและต่ำ (ทั้งต้น)

  8. ช่วยป้องกันและบำบัดโรคไทรอยด์ (ทั้งต้น)

  9. ดอกมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงหัวใจ (ดอก)

  10. หญ้าปักกิ่งทั้งต้นมีรสจืดชุ่ม เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อปอด มีสรรพคุณช่วยขับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้เด็กตัวร้อน เป็นไข้ แก้ร้อนในปอด (ทั้งต้น)

  11. ตำรายาจีนจะใช้หญ้าปักกิ่งเป็นยารักษาและบรรเทาอาการของโรคในระบบทางเดินหายใจ (ทั้งต้น)[3],[5]

  12. ใช้เป็นยาแก้ไอ (ทั้งต้น)[2]

  13. หญ้าปักกิ่งมีสรรพคุณช่วยรักษาอาการเจ็บคอ (ทั้งต้น)[1],[2]

  14. ใช้เป็นยาแก้ร้อนในปอด (ทั้งต้น)[2]

  15. ต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้โรคกระเพาะอาหารและลำไส้ (ต้น)[12]

  16. ใช้เป็นยาแก้บิด (ทั้งต้น)[2]

  17. ใช้รักษาโรคโกโนเรีย (หนองในแท้) ด้วยการใช้ทั้งต้นนำมาต้มกินกับน้ำผึ้ง (ทั้งต้น)[4]

  18. ใช้เป็นยาแก้ฝีภายในหรือภายนอกที่มีหนองบวมอักเสบ (ทั้งต้น)[2]

  19. ช่วยแก้ไตอักเสบ (ดอก)[12]

  20. สำหรับผู้ที่เป็นแผลเรื้อรัง การใช้สมุนไพรชนิดนี้ พบว่าจะทำให้ให้แผลแห้ง ไม่มีหนองและน้ำเหลือง (ทั้งต้น)[6]

  21. ใช้เป็นยาแก้อักเสบ ปวดบวม ด้วยการใช้ทั้งต้นนำมาตำพอกบริเวณที่เป็น (ทั้งต้น)[4]

  22. ยาจีนจะใช้หญ้าปักกิ่งเป็นยาขับพิษ กำจัดพิษ ล้างพิษที่ตกค้างออกจากร่างกาย (ทั้งต้น)[3],[5],[9]

  23. ใช้ป้องกันสารพัดโรค ด้วยการรับประทานหญ้าปักกิ่งสด ๆ (ที่ล้างสะอาดแล้ว) หรือปรุงเป็นอาหารจิ้มกินกับน้ำพริกก็ได้ โดยให้รับประทานวันละ 14 วัน (ใบ)[11]

  24. มีการใช้หญ้าปักกิ่งเป็นส่วนประกอบในยาแผนโบราณของจีนมานานกว่า 1,000 ปีแล้ว โดยนำมาใช้เป็นยาอายุวัฒนะ ช่วยเพิ่มความสมดุลของระบบในร่างกาย เพิ่มภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยการกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาวในร่างกาย (ทั้งต้น)[7]

  25. หญ้าปักกิ่งมีคุณสมบัติช่วยเพิ่มการเจริญเติบโตและการพัฒนาของเซลล์เม็ดเลือดขาว ช่วยซ่อมแซมเซลล์ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของตับและม้าม (ทั้งต้น)

  26. นอกจากนี้ยังมีข้อมูลอื่น ๆ ที่ระบุถึงสรรพคุณของหญ้าปักกิ่งไว้อีกหลายอย่าง เพียงแต่ข้อมูลดังกล่าวนั้นไม่มีแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือได้ จึงไม่ทราบแน่ชัดว่าหญ้าปักกิ่งจะมีสรรพคุณตามนั้นหรือไม่ ซึ่งจากข้อมูลได้ระบุสรรพคุณนอกจากที่ผมกล่าวมาแล้วว่า หญ้าปักกิ่งสามารถช่วยบำรุงหัวใจ รักษาโรคโรคหัวใจ โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ แก้ไมเกรน ภูมิแพ้ ช่วยทำให้ระบบขับถ่ายทำงานดีขึ้น ทำให้น้ำเหลืองแห้ง และยังสามารถนำหญ้าปักกิ่งมาตำพอกรักษาแผลต่าง ๆ ได้อีกด้วย เช่น เริม งูสวัด แผลเบาหวาน เป็นต้น (ข้อมูลส่วนนี้ผมอ่านเจอจากเว็บไซต์ที่จำหน่ายสมุนไพรหญ้าปักกิ่งนะครับ)

หมายเหตุ : การเก็บมาใช้ให้ใช้ทั้งต้น (เฉพาะส่วนที่อยู่เหนือดิน คือ ลำต้นและใบ) ที่มีอายุประมาณ 3-4 เดือนขึ้นไป หรือตั้งแต่เริ่มออกดอก[6] ส่วนวิธีการใช้หญ้าปักกิ่งตาม [2] ถ้าเป็นยาแห้งให้ใช้เพียงครั้งละ 10-15 กรัม แต่ถ้าเป็นต้นสดให้ใช้ครั้งละ 20-30 กรัม นำมาต้มกับน้ำหรือนำมาตำคั้นเอาแต่น้ำรับประทาน[2]

วิธีใช้หญ้าปักกิ่ง

  • สูตรดั้งเดิม แต่เดิมการใช้รักษาผู้ป่วยมะเร็งตามตำรายาพื้นบ้าน การเตรียมน้ำคั้นจากหญ้าปักกิ่ง จะใช้ใบหรือทั้งต้นหญ้าปักกิ่ง (เฉพาะส่วนที่อยู่เหนือดิน) ประมาณ 100-120 กรัม นำไปแช่กับน้ำด่างทับทิมประมาณ 10-15 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาดเพื่อทำความสะอาด หลังจากนั้นให้นำหญ้าปักกิ่งมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำไปคั้นเอาน้ำด้วยเครื่องปั่นแยกกาก นำน้ำคั้นที่ได้เทผ่านผ้าขาวบางและบีบคั้นเอาน้ำออกจากกาก ก็จะได้น้ำคั้นประมาณ 60 มิลลิเมตร ใช้แบ่งดื่มก่อนอาหารเช้าและเย็น (ครั้งละ 30 มิลลิลิตร และเป็นขนาดที่แนะนำสำหรับผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักตัวเฉลี่ย 60 กิโลกรัม แต่หากเป็นเด็กให้ลดปริมาณลงครึ่งหนึ่ง) โดยให้ดื่มติดต่อกัน 7 วัน และหยุด 4 วัน (เพื่อป้องกันการรับประทานเกินขนาด) ซึ่งการเตรียมน้ำคั้นจากหญ้าปักกิ่งนี้สามารถเตรียมไว้ใช้ได้ประมาณ 2-3 วัน โดยการเก็บรักษาไว้ในตู้เย็น แต่หลายท่านคงพบกับปัญหาว่าน้ำหญ้าปักกิ่งนั้นเหม็นเขียวและดื่มยาวเหลือเกิน เราก็สามารถแก้ไขด้วยการผสมน้ำผึ้งลงไป โดยใช้น้ำผึ้งนำมาละลายกับน้ำอุ่นเล็กน้อย แล้วค่อย ๆ ผสมน้ำหญ้าปักกิ่งลงไปในแก้ว กะปริมาณความหวานให้พอเหมาะ ก็จะช่วยทำให้รับประทานได้ง่ายขึ้น[3]

  • สูตรตำคั้น ให้นำหญ้าปักกิ่งที่ล้างสะอาดแล้ว 3 ต้น นำมาตำให้ละเอียดในครกดินเผาหรือครกไม้ แล้วเติมน้ำต้มสุก 2 ช้อนโต๊ะ กรองผ่านด้วยผ้าขาวบาง ให้ผู้ใหญ่กินครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ วันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหารเช้าครึ่งชั่วโมงและก่อนเข้านอน ส่วนเด็กให้ลดปริมาณลงครึ่งหนึ่งหรือกะตามความเหมาะสมการ[10]

  • สูตรการปั่น ให้ใช้หญ้าปักกิ่งสดทั้งต้นและรากที่ล้างสะอาดแล้ว ประมาณ 6-7 ต้น ใส่ลงในโถปั่นและใส่น้ำลงไปครึ่งแก้ว แล้วปั่นด้วยเครื่องปั่นน้ำผลไม้ เสร็จแล้วกรองเอากากออกด้วยตะแกรง นำมาแบ่งดื่มวันละ 2 ครั้งตามที่กล่าวมา[10]

  • สูตรการทำเป็นยาลูกกลอน ให้ใช้หญ้าปักกิ่งสดทั้งต้นและรากที่ล้างสะอาดแล้ว นำมาตากแดดให้แห้งสนิท (โดยหญ้าปักกิ่งสด 10 กิโลกรัม เมื่อนำมาตากแห้งจะเหลือน้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัม) แล้วนำหญ้าปักกิ่งแห้งไปบดให้เป็นผงผสมกับน้ำผึ้งในอัตราส่วน 1:1 และปั้นเป็นเม็ดลูกกลอน ใช้กินครั้งละ 6 เม็ด วันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหารเช้าและช่วงก่อนเข้านอน[10]

  • สูตรการตุ๋น ให้ใช้หญ้าปักกิ่งสดทั้งต้นและรากที่ล้างสะอาดแล้ว 10 ต้น ใส่หม้อต้มเติมน้ำให้พอท่วมยา แล้วตุ๋นจนเปื่อยโดยใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมง แล้วนำน้ำยาที่ได้มาดื่มต่างน้ำทุกวัน และควรตุ๋นวันต่อวัน (ไม่แน่ใจว่าการใช้วิธีนี้ สรรพคุณทางยาจะลดลงหรือไม่ แต่แนะนำให้ใช้วิธีแรกดีกว่าครับ)[10]

  • สูตรมยุรี ให้ใช้หญ้าปักกิ่งทั้งต้นรวมรากที่ล้างสะอาดแล้ว 1 กิโลกรัม และใช้น้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว 3 ขวดแม่โขงกลม ใส่ลงในโถปั่น ปั่นด้วยเครื่องปั่น (Blender) จากนั้นคั้นเอาแต่น้ำโดยกรองเศษออกด้วยผ้าขาวบาสะอาด ก็จะได้น้ำที่มีสีเขียวเข้มและฟอง ให้นำมากรอกใส่ขวด ปิดฝาให้แน่น เก็บเข้าตู้เย็นใต้ช่องแช่แข็ง ใช้ดื่มครั้งละ 1 แก้ว วันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหารเช้าครึ่งชั่วโมงและช่วงก่อนนอน ถ้าผสมน้ำผึ้งด้วยก็จะทำให้ดื่มได้ง่ายขึ้น ส่วนกากที่เหลือจะนำมาต้มแล้วคั้นดื่มแทนน้ำได้ครับ

ข้อควรระวังในการใช้หญ้าปักกิ่ง

  • หญ้าปักกิ่งมีฤทธิ์เป็นยาเย็น ไม่ควรนำมาใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเกินไป[2] หากรับประทานต่อเนื่องกันหลายปีโดยไม่หยุด อาจทำให้ร่างกายขาดน้ำ แขนขาชา กล้ามเนื้อลีบจนไม่อาจเดินได้ แต่เมื่อหยุดรับประทานอาการเหล่านี้จะหายไป[6]

  • หากใช้เกินขนาดที่กำหนดจะมีผลกดระบบภูมิคุ้มกัน[6]

  • ผลข้างเคียงของการรับประทานสมุนไพรชนิดนี้ คือ ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นประมาณ 0.5-1 องศาเซลเซียส[6]

  • ปฏิกิริยาหรือผลข้างเคียงในระยะ 7-10 วันแรก หลังจากการรับประทาน อาจทำให้มีอาการหงุดหงิด โมโหง่าย นอนไม่หลับ หรือเป็นไข้ อาจมีน้ำเลือดปนหนองออกทางอุจจาระ น้ำปัสสาวะอาจมีกลิ่นเหม็นเหมือนน้ำล้างปลา เป็นต้น แต่ไม่ได้ความว่าจะเป็นแบบนี้ทุกคนหรือทุกอาหาร และเมื่อเป็น อาการทั้งหลายจะหายไปเอง ไม่ต้องตกใจ เพราะยากำลังออกฤทธิ์[6]

  • ใบของหญ้าปักกิ่งเมื่อสัมผัสผิวหนังจะทำให้เกิดอาการแพ้ มีอาการคันได้ เนื่องจากภายในใบมีผลึกของแคลเซียมออกซาเลตรูปเข้มจำนวนมากและมีเกลืออนินทรีย์ของโซเดียมและโพแทสเซียมอยู่ประมาณ 0.1%

คำแนะในการใช้หญ้าปักกิ่ง

  • หญ้าปักกิ่งจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อมีอายุที่เหมาะสม หมายความว่า หากเป็นหญ้าที่ปลูกด้วยวิธีการชำกิ่ง จะต้องมีอายุ 3 เดือนขึ้นไป แต่ถ้าปลูกด้วยวิธีการเพาะเมล็ดต้นหญ้าปักกิ่งจะต้องมีอายุมากกว่า 5 เดือนขึ้นไป จึงจะเก็บมาใช้เป็นยาได้ เพราะหญ้าปักกิ่งที่มีอายุไม่ครบเวลาดังกล่าว สาร G1b จะยังไม่มีการสร้างในต้นที่มีอายุยังไม่ครบ ดังนั้นการเก็บมาใช้หรือการซื้อมาจากแหล่งอื่น คุณจะต้องมั่นใจว่าหญ้าปักกิ่งต้นนั้น ๆ มีอายุครบตามเกณฑ์กำหนดแล้ว มิฉะนั้นจะได้หญ้าที่ไม่มีคุณสมบัติรักษาโรคตามต้องการ[6]

  • เนื่องจากหญ้าปักกิ่งจะมีลักษณะรูปร่างคล้ายกับหญ้าหลายชนิด (เช่น หญ้ามาเลเซีย) ซึ่งหญ้าเหล่านั้นจะไม่มีสรรพคุณเหมือนหญ้าปักกิ่ง เพราะเคยมีผู้บริโภคไปซื้อตามท้องตลาดมาแล้ว แต่เมื่อนำไปตรวจสอบกลับไม่ใช่หญ้าปักกิ่ง ดังนั้นก่อนซื้อมาบริโภค คุณต้องมั่นใจก่อนว่าเป็นหญ้าปักกิ่งของจริง[6]

  • สาเหตุที่ต้องนำหญ้าปักกิ่งมาล้างให้สะอาดก่อนนำไปทำยา ก็เพราะว่าหญ้าปักกิ่งเป็นสมุนไพรคลุมดิน ต้นหญ้าจึงมีเชื้อจุลินทรีย์ในดินปนเปื้อนมา การนำมาใช้จึงต้องมั่นใจว่าล้างสะอาดแล้ว (อ่าน 16 วิธีการล้างผักผลไม้ให้สะอาดปลอดภัย) จนปราศจากเชื้อจุลินทรีย์ ถ้าหากล้างไม่สะอาด การนำมาดื่มคั้นสด ก็จะเป็นการดื่มเชื้อจุลินทรีย์ในดินเข้าไปด้วย ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งที่มีภูมิต้านทานต่อยู่แล้ว อาจเป็นอันตรายมากกว่าคนปกติ[6]

  • การนำมาใช้เป็นยาไม่ควรนำมาต้มหรือเคี่ยว เพราะจะทำลายสรรพคุณทางยาลงมาก จึงแนะนำให้ใช้วิธีการคั้นสดแทนจะดีที่สุด

  • ในขณะรับประทานยานี้ ควรงดของแสลงต่าง ๆ เช่น ฟัก แตงกวา ผักกาดขาว ผักบุ้ง หน่อไม้ หัวไชเท้า รวมถึงอาหารที่ถือว่าเป็นของเย็น เพราะจะมีผลทำให้ฤทธิ์การรักษาโรคของหญ้าปักกิ่งลดลง[9],[11]

  • เนื่องจากหญ้าปักกิ่งเป็นยาเย็น บางคนรับประทานเข้าไปแล้วอาจเกิดอาการมือเท้าเย็นได้ ก็แนะนำให้กินคู่กับขิงที่มีร้อนเพื่อช่วยปรับสมดุล[10]

  • แต่อย่างไรก็ตาม การใช้หญ้าปักกิ่งในผู้ป่วยมะเร็งควรอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยและความมีประสิทธิภาพในการรักษาอย่างสูงสุด

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของหญ้าปักกิ่ง

  • น้ำคั้นสดจากหญ้าปักกิ่ง มีสาร Glycosphingolipid (G1b) ซึ่งมีชื่อทางเคมีว่า 1B-O-D-glucopyranosy1-2-(2'-hydroy-6'-ene-cosamide)-sphingosine (G1b)[6]

  • หญ้าปักกิ่งเป็นสมุนไพรที่มีศักยภาพในการรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งในขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษา (หนังสืออ้างอิงเล่มนี้พิมพ์เมื่อปี พ.ศ.2535)[1]

  • ข้อมูลของ In vitro อ้างว่า พบสาร Cytoxic ซึ่งเป็นสารรักษามะเร็ง แต่ยังไม่มีการยืนยันอย่างชัดเจน (หนังสืออ้างอิงเล่มนี้พิมพ์เมื่อปี พ.ศ.2554)[2]

  • ในประเทศไทยผู้ป่วยมะเร็งจะดื่มน้ำคั้นจากส่วนที่อยู่เหนือดินของต้นหญ้าปักกิ่งรักษาตนเอง เพื่อช่วยยืดชีวิตและลดผลข้างเคียงของการใช้ยาแผนปัจจุบันมานานกว่า 30 ปีแล้ว โดยพบว่าสารที่แสดงฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งในหญ้าปักกิ่ง คือ ไกลโคสฟิงโกไลพิดส์ (Glycosphingolipid) ที่มีชื่อว่า G1b ซึ่งเป็นกลุ่มไขมันที่มีขั้วเป็นองค์ประกอบของเซลล์ผิว เป็นสารที่มีหน้าที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน จึงคาดว่า นอกจากจะมีฤทธิ์ในการยับยั้งเซลล์มะเร็งโดยตรงต่อเซลล์มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งตับ ในระดับปานกลางในหลอดทดลองแล้ว สารชนิดนี้อาจมีฤทธิ์ปรับระบบภูมิคุ้มกันได้อีกด้วย ซึ่งจากการทดลองเบื้องต้นพบว่าสาร G1b สามารถเพิ่มอัตราส่วนของ CD3, CD4 และ CD3, CD8 ที่ผิวของเซลล์เม็ดเลือดขาวเพาะเลี้ยงในวันที่ 3-7 (ข้อมูลนี้ถูกเผยแพร่เมื่อปี พ.ศ.2556)[3]

  • สารสกัดจากหญ้าปักกิ่งมีผลลดความรุนแรงของการแพร่ของมะเร็งในหนูทดลอง จึงคาดว่าหญ้าปักกิ่งอาจใช้ป้องกันการเกิดมะเร็งได้ นอกจากนี้หญ้าปักกิ่งยังมีฤทธิ์ต้านการกลายพันธุ์ของยีนที่เกิดจากสารก่อกลายพันธุ์ชนิดต่าง ๆ ได้ เช่น AFB1 และสารสกัดหญ้าปักกิ่งยังมีฤทธิ์เหนี่ยวนำเอนไซม์ DT-diaphorase ซึ่งมีบทบาททำลายสารพิษที่ก่อให้เกิดมะเร็ง[6]

  • หญ้าปักกิ่งไม่แสดงความเป็นพิษเฉียบพลันละพิษกึ่งเรื้อรังในหนูขาวทดลอง[1] และจากการทดลองโดยให้รับประทานเป็นเวลานาน 3 เดือน ก็ไม่พบผลผิดปกติต่อการเจริญเติบโตและผลต่ออวัยวะต่าง ๆ แต่อย่างใด[2] น้ำคั้นจากหญ้าปักกิ่งไม่ทำให้เกิดความผิดปกติในด้านการเจริญเติบโตเคมีเลือดและพยาธิสภาพของอวัยวะสำคัญของหนูขาวทดลอง โดยมีค่า LD50 เมื่อให้โดยการป้อนให้หนูขาวมากกว่า 120 กรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว ซึ่งเทียบเท่ากับ 300 เท่าของขนาดที่ใช้รักษาในคน จึงจัดว่าเป็นสมุนไพรที่มีความปลอดภัยตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก

ประโยชน์ของหญ้าปักกิ่ง

  • คนเมืองจะใช้ใบของหญ้าปักกิ่งนำมารับประทานร่วมกับลาบเพื่อช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันและต้านอนุมูลอิสระ (ใบ)[8],[10]

  • ในด้านประโยชน์ทางการแพทย์ จะใช้เป็นยาร่วมในการรักษามะเร็ง ยับยั้งการแพร่กระจายของมะเร็งและการกลับมาเป็นอีก รวมทั้งใช้ปรับระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย และสามารถช่วยลดผลข้างเคียงจากการรักษาแผนปัจจุบันได้ เช่น ผลข้างเคียงจากการฉายรังสี เคมีบำบัด ที่ทำให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ปากแห้ง เป็นแผลในปาก ผมร่วง อ่อนเพลีย ท้องเสีย ท้องผูก ปวดข้อและกล้ามเนื้อ เป็นต้น ซึ่งเป็นการทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเป็นอย่างมาก เพราะช่วยลดความทุกข์ทรมาน ส่วนบางรายมีอายุยืนยาวมากขึ้น[6],[7],[10]

  • ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป โดยอาจปลูกเป็นพืชคลุมดินใต้ต้นไม้ใหญ่ หรือปลูกในกระบะหรือกระถางก็ได้ หญ้าปักกิ่งเป็นพืชที่ปลูกง่ายและไม่จำเป็นต้องมีเนื้อที่มาก[5],[7]

  • ปัจจุบันสถาบันวิจัยและพัฒนาขององค์การเภสัชกรรมได้นำหญ้าปักกิ่งมาพัฒนาเป็นยาเม็ด (ส่วนประกอบทุกอย่างเป็นสารที่มาจากธรรมชาติ) ออกจำหน่าย ทั้งนี้ก็เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วยได้หาซื้อมารับประทานได้โดยง่าย และได้รับคุณค่าจากหญ้าปักกิ่งตามต้องการอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากยาเม็ดที่ได้จะผ่านกระบวนการผลิตและควบคุมคุณภาพด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัย เพื่อประกันคุณภาพของยา (ยา 2 เม็ด มีคุณค่าเทียบเท่ากับต้นหญ้าปักกิ่ง 3 ต้น) โดยให้รับประทานก่อนอาหารเช้าครึ่งชั่วและก่อนเข้านอนครั้งละ 1-2 เม็ด วันละ 2 ครั้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวของผู้ป่วย หมายความว่าถ้าผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักตัว 40 กิโลกรัมขึ้นไปให้รับประทานครั้งละ 2 เม็ด วันละ 2 ครั้ง แต่ถ้าเป็นเด็กอายุ 6-12 ขวบ หรือผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักตัวต่ำกว่า 40 กิโลกรัม ให้รับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 2 ครั้ง ส่วนเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ขวบ หรือผู้ที่มีน้ำหนักตัวต่ำกว่า 20 กิโลกรัม การนำไปใช้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ครับ ส่วนรับประทานเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดนั้น ให้รับประทานยานี้เป็นรอบโดยรับประทาน 7 วัน แล้วหยุด 4 วันสลับกันไป นับเป็น 1 รอบ แล้วเริ่มประทานรอบใหม่ต่อไป ส่วนระยะเวลาการรับประทานก็ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของการรักษา ถ้าใช้ลดผลข้างเคียงจากรังสีบำบัดหรือเคมีบำบัดของผู้ป่วยมะเร็ง ก็ให้รับประทานควบคู่ไปกับการรักษาแผนปัจจุบันครับ ถ้าใช้ป้องกันการแพร่กระจายและการกลับมาเป็นซ้ำของผู้ป่วยมะเร็งหลังจากได้รับการรักษาแล้ว ก็ให้รับประทานติดต่อกันประมาณ 1 ปี และตรวจมะเร็งปีละ 2 ครั้ง แต่ถ้าใช้ในกรณีเพิ่มเสริมภูมิคุ้มกันในร่างกายกับผู้ที่ไม่ได้ป่วยเป็นมะเร็ง โดยเฉพาะช่วงที่ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำ (เช่น ติดเชื้อไวรัส) ก็ให้รับประทานติดต่อกันไม่เกิน 6-8 สัปดาห์ แต่ทั้งนี้ไม่ว่าจะนำมาใช้เพื่อจุดประสงค์ใดก็ต้องใช้สูตรเดิมครับ คือ รับประทาน 7 วัน หยุด 4 วันสลับกันไปเรื่อย ๆ ตามกำหนด

หญ้าเทวดา
ดอกหญ้าเทวดา

เอกสารอ้างอิง

  1. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “หญ้าปักกิ่ง”. หน้า 146.

  2. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “หญ้าปักกิ่ง”. หน้า 590.

  3. ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. (รองศาสตราจารย์ ดร. วีณา จิรัจฉริยากูล). “หญ้าปักกิ่ง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th. [08 ก.ค. 2014].

  4. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “หญ้าปักกิ่ง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [08 ก.ค. 2014].

  5. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “หญ้าปักกิ่ง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [08 ก.ค. 2014].

  6. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. “หญ้าเทวดา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: drug.pharmacy.psu.ac.th. [08 ก.ค. 2014].

  7. ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. (ภญ.ดร.จุไรทิพย์ หวังสินทวีกุล). “หญ้าปักกิ่งเป็นหญ้าเทวดาดั่งชื่อจริงหรือ?”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: pcog.pharmacy.psu.ac.th. [08 ก.ค. 2014].

  8. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “หญ้าปักกิ่ง”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [08 ก.ค. 2014].

  9. มุมสมุนไพร, ศูนย์ส่งเสริมการเกษตรที่สูง จังหวัดลำพูน. “หญ้าปักกิ่ง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.haec05.doae.go.th. [08 ก.ค. 2014].

  10. กระปุกดอทคอม. “ฟ้าทะลายโจร ยอ หญ้าปักกิ่ง สมุนไพรต้านอนุมูลอิสระ”. อ้างอิงใน: เว็บไซต์หมอชาวบ้าน. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: health.kapook.com. [08 ก.ค. 2014].

  11. สมาคมมะเร็งนรีเวชไทย. “หญ้าปักกิ่ง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: tgcsthai.com. [08 ก.ค. 2014].

  12. ฐานข้อมูลสมุนไพร จ.อุตรดิตถ์. “หญ้าปักกิ่ง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: industrial.uru.ac.th. [08 ก.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by 翁明毅, Tony Rodd (ต้น), 10000hrs, Ahmad Fuad Morad, Hai Le, 阿橋)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)