กะเพรา

กะเพรา ชื่อสามัญ Holy basil, Sacred basil

กะเพรา ชื่อวิทยาศาสตร์ Ocimum tenuiflorum L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Ocimum sanctum L.)

จัดอยู่ในวงศ์กะเพรา (LAMIACEAE หรือ LABIATAE)

สมุนไพรกะเพรา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กอมก้อ กอมก้อดง (เชียงใหม่), ห่อกวอซู ห่อตูปลู อิ่มคิมหลำ (แม่ฮ่องสอน), กะเพราขน กะเพราขาว กะเพราแดง (ภาคกลาง), อีตู่ไทย (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) เป็นต้น

ลักษณะ

กะเพราเป็นไม้ล้มลุกที่มีความสูงของต้นประมาณ 30-60 เซนติเมตร โคนต้นออกแข็ง กะเพราแดงจะมีลำต้นสีแดงอมเขียว กะเพราขาวมีลำต้นสีเขียวอมขาว และยอดอ่อนมีขนสีขาว มีใบเป็นใบเดี่ยวสีเขียวรูปรีออกตรงข้ามกัน ปลายใบมนหรือแหลม โคนใบแหลม ขอบใบเป็นจักฟันเลื่อยและเป็นคลื่น แผ่นใบมีขนสีขาว ส่วนดอกกะเพราจะออกเป็นช่อที่ปลายยอด ดอกสีขาวแกมม่วงแดงมีจำนวนมาก กลีบเลี้ยงโคนจะเชื่อมติดกัน ปลายเรียวแหลม ด้านนอกมีขน กลีบดอกแบ่งเป็น 2 ปาก ปากบน 4 แฉก ปากล่าง 1 แฉกและยาวกว่าปากบน มีขนประปราย เกสรตัวผู้มี 4 อัน ส่วนผลเป็นผลแห้ง เล็ก เมื่อแตกออกจะมีเมล็ดสีดำถึงน้ำตาลคล้ายรูปไข่

กะเพรามีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ กะเพราแดงและกะเพราขาว โดยกะเพราแดงจะมีฤทธิ์ที่แรงกว่ากะเพราขาว ในสรรพคุณทางยาจึงนิยมใช้กะเพราแดง โดยส่วนที่นำมาใช้ทำเป็นยาสมุนไพรก็ได้แก่ ส่วนของใบ ยอดกะเพรา (ทั้งสดและแห้ง) และทั้งต้น แต่ถ้านำมาใช้ประกอบอาหารจะนิยมใช้กะเพราขาวเป็นหลัก

การดูแล

กะเพราเป็นพืชที่ต้องการความชื้นสูงและสม่ำเสมอ ดังนั้นควรมีการรดน้ำทุกวันเช้า-เย็น แต่ระวังอย่าให้มีการท่วมขังของน้ำในแปลง และในระยะแรกควรมีการพรวนดินและกำจัดวัชพืชทุก 1-2 สัปดาห์ โดยการใช้มือถอน ใช้จอบหรือเสียมดายหญ้าออก แต่ระวังอย่าให้กระทบกระเทือนต้นและราก

สำหรับการใส่ปุ๋ยกะเพรานั้น หลังจากปลูก 15 วัน ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 ในอัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ หรือสูตร 15-15-15 อัตรา 30 กิโลกรัมต่อไร่ โรยข้างแถวแล้วพรวนดินกลบและรดน้ำตาม หลังจากปลูก 20-25 วัน ใส่ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต (21-0-0) อัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่ โดยละลายน้ำรดในตอนเย็น และหลังจากเก็บเกี่ยวทุกครั้งให้ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ หรือสูตร 15-15-15 อัตรา 30 กิโลกรัมต่อไร่

โดยปกติแล้วกะเพราเป็นพืชที่ไม่ค่อยมีปัญหาจากการทำลายของโรคและแมลงมากนัก ดังนั้นหากมีแมลงรบกวนจึงไม่ควรใช้สารเคมี โดยให้ยึดหลักวิธีการผลิตผักอนามัยเป็นแนวทางในการปฏิบัติ

สรรพคุณ

กะเพราจัดเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่มีสรรพคุณทางยาช่วยรักษาโรคได้หลายชนิด ทั้งตำรับยาไทยและต่างประเทศก็ระบุว่ากะเพราเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณหลายด้าน อย่างตำราสมุนไพรไทยบ้านเราก็บรรยายสรรพคุณของกะเพราเอาไว้ว่า รสฉุน ร้อน ช่วยขับลมแก้ซาง แก้ท้องขึ้น จุกเสียดแน่นท้อง ปวดท้อง ช่วยในการย่อยอาหาร และช่วยบำรุงธาตุ เป็นต้น และในต่างประเทศก็มีการใช้กะเพราในการรักษาโรคกันอย่างกว้างขวางยิ่งกว่าบ้านเราเสียอีก โดยเฉพาะประเทศอินเดีย เขาถือว่ากะเพราเป็นยารักษาโรคได้ทุกโรค และยังจัดเป็นราชินีแห่งสมุนไพร (The Queen of herbs) หรือเป็นยาอายุวัฒนะ (The Elixir of life) เลยก็ว่าได้

1. ใช้ทำเป็นยาอายุวัฒนะ (the elixir of life)

2. ช่วยทำให้ร่างกายอบอุ่นและป้องกันอาการหวัดได้ (ใบ)

3. กะเพราเป็นส่วนประกอบของยาสมุนไพรหลายชนิด เช่น ยารักษาตานขโมยสำหรับเด็ก ยาแก้ทางเด็ก ฯลฯ

4. รากแห้งนำมาชงหรือต้มกับน้ำร้อนดื่ม ช่วยแก้โรคธาตุพิการ (ราก)

5. ช่วยบำรุงธาตุไฟ (ใบ)

6. ช่วยแก้อาการคลื่นเหียนอาเจียน (ใบ)

7. ช่วยแก้อาการปวดด้วยการใช้ใบกะเพรานำมาคั้นรับประทานสด 1 ถ้วยตะไล จะช่วยแก้อาการปวดมวนท้องได้เป็นอย่างดี (ใบ)

8. ช่วยขับลมแก้อาการปวดท้องอุจจาระ (ใบ)

9. ใบกะเพรามีสรรพคุณช่วยขับลมในกระเพาะ (ใบ)

10 ช่วยแก้อาการจุกเสียดแน่นท้อง (ใบ)

11. ช่วยแก้ลมซานตาง (ใบ)

12. น้ำสกัดจากทั้งต้นของกะเพรามีฤทธิ์ช่วยลดการบีบตัวของลำไส้ (น้ำสกัดจากทั้งต้น)

13. ช่วยย่อยไขมัน (น้ำสกัดจากทั้งต้น)

14. ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร (น้ำสกัดจากทั้งต้น)

15. กะเพรามีสรรพคุณช่วยขับน้ำดี (น้ำสกัดจากทั้งต้น)

16. ช่วยแก้ลมพิษ ด้วยการใช้ใบกะเพราประมาณ 1 กำมือนำมาตำผสมเหล้าขาวแล้วนำมาทาบริเวณที่เป็นลมพิษ (ใบ)

17. ใช้ทำเป็นยารักษากลากเกลื้อน ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 20 ใบนำมาขยี้ให้น้ำออกมา แล้วนำมาใช้ทาบริเวณที่เป็นวันละ 2-3 ครั้งจนกว่าจะหาย (ใบ)

18. ใช้เป็นยารักษาหูด ด้วยการใช้ใบกะเพราแดงสดนำมาขยี้แล้วทาบริเวณที่เป็นหูดเช้า-เย็น จนกว่าหัวหูดจะหลุดออกมา โดยระวังอย่าให้เข้าตาและถูกบริเวณผิวที่ไม่ได้เป็นหูด เพราะจะทำให้เนื้อดีเน่าเปื่อยและรักษาได้ยาก (ใบสด)

19. ช่วยแก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อยได้ ด้วยการใช้ใบกะเพรานำมาตำผสมกับเหล้าขาว แล้วนำมาทาบริเวณที่ถูกกัด ห้ามนำมารับประทานเด็ดขาดเพราะจะมีสารยูจีนอล (Eugenol) ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการระคายเคืองในกระเพาะอาหารและอาจถึงขั้นโคม่าได้ (ใบ)

20. ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคและช่วยฆ่าเชื้อจุลินทรีย์บางชนิดได้ (น้ำมันใบกะเพรา)

21. มีงานวิจัยพบว่ากะเพราสามารช่วยยับยั้งสารอะฟลาทอกซิน (Aflatoxin) ซึ่งเป็นสารพิษที่มักพบเจือปนในอาหารซึ่งเป็นสารก่อโรคมะเร็งได้ (สารสกัดจากกะเพรา)

22. ใบกะเพรามีฤทธิ์ในการช่วยขับไขมันและน้ำตาลส่วนเกินออกจากร่างกาย ช่วยลดระดับไขมันในร่างกายและช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยป้องกันโรคเบาหวานได้ โดยมีการใช้ใบกะเพราในกระต่ายทดลอง โดยให้กระต่ายกินใบกะเพราติดต่อ 4 สัปดาห์พบว่าระดับไขมันโดยรวมลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งไขมันเลว (LDL) ลดลง แต่ไขมันชนิดดี (HDL) กลับเพิ่มขึ้น

23. ช่วยเพิ่มน้ำนมให้สตรีหลังคลอดบุตร ด้วยการใช้ใบกะเพราสดประมาณ 1 กำมือ นำมาใส่แกงเลียงรับประทานบ่อย ๆ ในช่วงหลังคลอด (ใบ)

24. นำเมล็ดไปแช่น้ำจะพองตัวเป็นเมือกขาว นำมาใช้พอกบริเวณตา เมื่อมีฝุ่นละอองหรือเศษผงเข้าตา ผงหรือฝุ่นละอองก็จะหลุดออกมา โดยไม่ทำให้ตาของเรานั้นช้ำอีกด้วย (เมล็ด)

25. ใบและกิ่งสดของกะเพรามีการนำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหยด้วยการต้มกลั่นจนได้น้ำมันหอมระเหยร้อยละ 0.08 - 0.1 โดยมีราคาประมาณกิโลกรัมละหนึ่งหมื่นบาท

ใช้ไล่ยุงหรือฆ่ายุง ด้วยการใช้ทั้งใบสดและกิ่งสด เอาใบมาขยี้แล้ววางใกล้ตัว ๆ จะช่วยไล่ยุงและแมลงได้ โดยน้ำมันกะเพราที่สกัดมาจากใบจะมีคุณสมบัติช่วยไล่ยุงได้ดีกว่าต้นสด (ใบสด, กิ่งสด)

26. น้ำมันสกัดจากใบสด ช่วยล่อแมลง ทำให้แมลงวันทองบินมาตอมน้ำมันนี้ (น้ำมันสกัดจากใบสด)

27. ใช้ในการประกอบอาหารและช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ ในเมนูกะเพราสุดโปรด เช่น ผัดกะเพรา แกงเลียง แกงป่า แกงคั่ว แกงเขียวหวาน แกงส้มมะเขือขื่น ผัดกบ ผัดหมู ผัดปลาไหล พล่าปลาดุก พล่ากุ้ง หรือจะนำใบกะเพรามาทอดแล้วใช้โรยหน้าอาหารเมนูต่าง ๆ ก็ได้ ฯลฯ

28. ใบกะเพราสามารถช่วยดับกลิ่นปากอันไม่พึงประสงค์ได้ (ใบ)

แหล่งอ้างอิง : สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.), สำนักงานหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, กรมชลประทาน, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (EN)

การเลือกพื้นที่ปลูก

กะเพราเป็นพืชล้มลุกที่มีอายุเฉลี่ย 1-2 ปี ปลูกครั้งเดียวสามารถเก็บเกี่ยวไปได้เรื่อยๆ ทุก 15-20 วัน การเลือกพื้นที่ปลูกควรเป็นที่ดอน แต่อยู่ใกล้แหล่งน้ำ สามารถนำน้ำมาใช้รดได้สะดวก ไม่มีปัญหาเรื่องน้ำท่วมขัง ปกติกะเพราสามารถขึ้นได้ดีในดินทุกชนิด แต่จะชอบดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ดีร่วนซุย ระบายน้ำดี อยู่ใกล้ที่พักอาศัย อยู่ไม่ไกลจากตลาดหรือแหล่งรับซื้อมากนัก และการคมนาคมสะดวก

การเตรียมดินปลูก

กะเพราเป็นพืชที่มีระบบรากลึกปานกลาง ปลูกครั้งเดียวสามารถเก็บเกี่ยวได้ 10-15 ครั้ง ต่อระยะเวลา 7-8 เดือน หลังจากนั้นผลผลิตจะลดลง กิ่งก้านแข็ง แตกยอดน้อย เมื่อถึงตอนนี้ควรจะรื้อปลูกใหม่ อย่างไรก็ดีการเตรียมดินปลูกกะเพราก็เหมือนกับปลูกพืชอื่นๆ คือไถ หรือขุดดินลึกประมาณ 20-25 เซนติเมตร ตากดินไว้ 7-10 วัน ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้ว คลุกเคล้าให้เข้ากับดินให้ทั่ว ย่อยดินให้ละเอียดแล้วพร้อมที่จะปลูกได้

วิธีการปลูก

การปลูกกะเพราโดยทั่วไปมีการปฏิบัติกันอยู่ 3 วิธี ดังนี้

  1. ปลูกโดยการหว่านเมล็ด การปลูกด้วยวิธีนี้จะต้องใช้เมล็ดพันธุ์มากและใช้แรงงานมากในการถอนแยก โดยเริ่มจากรดน้ำให้ชุ่มทั่วแปลง แล้วหว่านเมล็ดพันธุ์ให้กระจายสม่ำเสมอทั่วแปลง โดยทั่วไปใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 250 กรัมต่อไร่ ใช้แกลบขาวหรือแกลบดำโรยคลุมให้ทั่วแปลง หลังจากนั้นใช้ฟางแห้งหรือหญ้าแห้งคลุมทับบางๆ เสร็จแล้วให้รดน้ำตาม และรดน้ำทุกๆ วัน หลังจากงอกประมาณ 15-20 วัน ควรทำการถอนแยกให้ได้ระยะระหว่าง 20x20 เซนติเมตร

  2. ปลูกโดยการใช้ต้นกล้า เป็นวิธีที่เกษตรกรนิยมปฏิบัติกันมากเพราะให้ผลผลิตสูงและสะดวกในการจัดการ โดยทำการเพาะกล้าในแปลงเพาะจนกระทั่งกล้ามีอายุ 20-25 วัน จึงทำการย้ายปลูก การย้ายปลูกควรทำในตอนเย็นและปลูกให้เสร็จภายในวันเดียวกัน เมื่อถอนต้นกล้ามาแล้วจึงเด็ดยอดออก ขุดหลุมให้ได้ระยะ 20x20 เซนติเมตร แล้วนำต้นกล้าที่เด็ดยอดแล้วลงปลูก หลังจากนั้นใช้ฟางหรือหญ้าแห้งคลุมระหว่างแถว รดน้ำตามทันทีและรดน้ำทุกวัน

  3. ปลูกโดยการใช้ต้นและกิ่งแก่ การปลูกโดยใช้ลำต้นและกิ่งแก่ทำให้ได้ผลผลิตเร็ว แก่กิ่งและยอดที่แตกออกมาใหม่มักไม่สวนเท่าที่ควร ลำต้นโทรมและตายเร็ว วิธีการโดยตัดต้นและกิ่งแก่ที่มีอายุมากกว่า 8 เดือน ให้มีความยาว 5-10 เซนติเมตร เด็ดยอดและใบออก แล้วนำต้นหรือกิ่งแก่ไปปักชำในแปลง ใช้ระยะปลูก 20x20 เซนติเมตร หลังจากนั้นใช้ฟางหรือหญ้าแห้งคลุมระหว่างแถว รดน้ำตามทันที และหลังจากปลูกควรรดน้ำทุกวัน

กะเพรา

ข้อมูลเบื้องต้น

  • อายุ 7-8 เดือน

  • แสง รำไร

  • ดิน ร่วน

  • ชุ่มน้ำ 1-2 ครั้ง

  • เมล็ด 60-120 ซม.

  • เก็บเกี่ยว 30-35 วัน

ที่มา https://sites.google.com/site/krapherasmunphirthai/home/laksna-thawpi/srrphkhun-thang-ya/kar-pluk-kra-phera