มะเขือเทศ

มะเขือเทศ ชื่อสามัญ Tomato

มะเขือเทศ ชื่อวิทยาศาสตร์ Lycopersicon esculentum Mill. จัดอยู่ในวงศ์มะเขือ (SOLANACEAE)

มะเขือเทศคือผักหรือผลไม้ ?

คำตอบ "มะเขือเทศคือผลไม้" ซึ่งเป็นไปตามคำนิยามของหลักทางพฤกษศาสตร์ เพราะผลไม้คือส่วนของรังไข่ที่เจริญเติบโตเต็มที่ของพืชดอก ส่วนผักคือพืชที่กินได้ของพืชล้มลุก ไม่ว่าจะเป็นราก ใบ ก้าน หัว หน่อ ดอก ซึ่งโดยปกติแล้วคนส่วนมากมักเข้าใจผิดว่ามะเขือเทศคือผักเพราะนำไปใช้ประกอบอาหารกันเป็นส่วนใหญ่ และมักคิดว่าผลไม้คือสิ่งที่ให้ความหวานนั่นเอง โดยมะเขือเทศที่นิยมรับประทานมากคือ มะเขือเทศสีดา มะเขือเทศราชินี

ข้อควรรู้ ! :

  • มะเขือเทศนั้นจัดว่าเป็นผลไม้ที่คนทั่วโลกนิยมรับประทานกันมากที่สุด โดยนิยมรับประทานกันมากกว่าผลไม้ยอดนิยมอันดับ 2 อย่างกล้วย มากถึง 16 ล้านตันต่อปี ส่วนผลไม้อันดับ 3 คือ แอปเปิ้ลและส้ม ตามลำดับ

  • มะเขือเทศ นอกจากจะเป็นผลไม้ที่นิยมรับประทานกันมากที่สุดในโลกแล้ว ประโยชน์ของมะเขือเทศยังมีอยู่มากมาย เพราะอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิดที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น วิตามินซี วิตามิเอ วิตามินเค วิตามินพี วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 ธาตุแคลเซียม ธาตุฟอสฟอรัส และธาตุเหล็ก โดยมะเขือเทศขนาดปานกลางนั้นจะมีปริมาณของวิตามินซีครึ่งหนึ่งของส้มโอทั้งลูก และมะเขือเทศหนึ่งผลมีปริมาณวิตามินเอที่ร่างกายต้องการจำนวน 1 ใน 3 ของวิตามินเอที่ร่างกายต้องการต่อวันเลยทีเดียว ! และยังมีสารจำพวกไลโคปีน (Lycopene) แคโรทีนอยด์ เบตาแคโรทีน และกรดอะมิโน เป็นต้น และมะเขือเทศยังจัดว่าเป็นผลไม้ที่มีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคได้อีกด้วย เช่น ช่วยป้องกันการแข็งตัวของหลอดเลือด ขับปัสสาวะ รักษาความดัน เป็นต้น

  • โดยน้ำมะเขือเทศที่เราคั้นเองสด ๆ จะดีกว่าน้ำมะเขือเทศขวดหรือกล่อง และไม่ควรเลือกรับประทานมะเขือเทศดิบ เพราะอาจจะเป็นผลเสียต่อร่างกายมากกว่าจะได้รับประโยชน์ และการกินมะเขือเทศในปริมาณมากก็ไม่มีผลข้างเคียงแต่อย่างใด มีงานวิจัยมะเขือเทศออกมาว่าการรับประทานมะเขือเทศให้ได้ 10 ครั้งต่อสัปดาห์ถือว่ามีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างมากเพราะจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการเกิดโรคมะเร็งได้อย่างมาก และดีต่อสุขภาพผิวอย่างเห็นได้ชัดเจน

สรรพคุณของมะเขือเทศ

  1. ช่วยให้ร่างกายสามารถต่อสู้กับโรคหอบหืดได้มากถึง 45%

  2. ช่วยป้องกันโรคสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์

  3. ช่วยรักษาโรคลักปิดลักเปิด เลือดออกตามไรฟัน

  4. ช่วยป้องกันการแข็งตัวของหลอดเลือด

  5. มะเขือเทศมีฤทธิ์ในการช่วยขับปัสสาวะ

  6. ช่วยรักษาโรคความดันโลหิตสูง

  7. ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ

  8. ช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดภาวะเส้นเลือดตีบ การเกิดโรคหัวใจวาย สำหรับผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ

  9. ช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด

  10. ช่วยในระบบย่อยในกระเพาะอาหารและช่วยในการขับถ่ายอุจจาระได้สะดวก

  11. ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราหรือเชื้อราที่ปาก

  12. ช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคมะเร็งลำไส้

  13. ช่วยลดความเสี่ยงจากโรคมะเร็งต่อมลูกหมากในเพศชายได้ถึง 45% หากรับประทานมะเขือเทศเป็นประจำ

  14. ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งรังไข่ในเพศหญิง

  15. ซอสมะเขือเทศช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดหลังจากการหกล้มหรือถูกมีดบาดได้

ประโยชน์ของมะเขือเทศ

  1. ช่วยบำรุงผิวพรรณให้ชุ่มชื่นสดใส ไม่แห้งกร้าน

  2. มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยลดและชะลอการเกิดริ้วรัยแห่งวัย

  3. น้ำมะเขือเทศช่วยเพิ่มความสดชื่นให้แก่ร่างกาย

  4. ช่วยเสริมคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรง

  5. มีวิตามินเอซึ่งมีส่วนชวยบำรุงสายตา

  6. มะเขือเทศมีเบตาแคโรทีนและฟอสฟอรัสในปริมาณมาก

  7. มะเขือเทศช่วยในการรักษาสิว ด้วยการนำน้ำมะเขือเทศมาพอกผิวหน้าหรือฝานบาง ๆ แล้วนำมาแปะหน้าก็ได้

  8. ช่วยทำให้ผิวหน้าเต่งตึงสดใส ด้วยการนำน้ำมะเขือเทศมาพอกผิวหน้าหรือฝานบาง ๆ แล้วนำมาแปะหน้าก็ได้

  9. มะเขือเทศใช้นำมาทำเป็นน้ำผลไม้ โดยน้ำผลไม้ที่ขึ้นชื่อก็คือน้ํามะเขือเทศดอยคํา

  10. เป็นที่นิยมนำมาทำเป็นอาหารได้หลายเมนู เช่น ข้าวผัด ซุป ยำต่าง ๆ เป็นต้น

  11. ซอสมะเขือเทศหมักผม ด้วยการใช้มะเขือเทศหมักผมจะช่วยป้องกันการเปลี่ยนไปของสีผม อันเนื่องมาจากการว่ายน้ำในสระที่มีคลอรีน

  12. ซอสมะเขือเทศนำมาใช้ขัดเครื่องประดับเงินชิ้นโปรดของคุณให้เงางามเหมือนเดิมได้ ด้วยนำซอสมะเขือเทศมาถูแล้วล้างน้ำออก

  13. ซอสมะเขือเทศช่วยในการดับกลิ่นคาว เศษอาหาร กลิ่นปลาสลิดได้เหมือนกันนะ เพียงแค่เปิดฝาซอสทิ้งไว้ 1 คืนเท่านั้น

คุณค่าทางโภชนาการของมะเขือเทศสีแดงสด ต่อ 100 กรัม

  • พลังงาน 18 กิโลแคลอรี

  • คาร์โบไฮเดรต 3.9 กรัม

  • น้ำตาล 2.6 กรัม

  • เส้นใย 1.2 กรัม

  • ไขมัน 0.2 กรัม

  • โปรตีน 0.9 กรัม

  • น้ำ 94.5 กรัม

  • วิตามินเอ 42 ไมโครกรัม 5%

  • เบตาแคโรทีน 449 ไมโครกรัม 4%

  • ลูทีนและซีแซนทีน 123 ไมโครกรัม

  • วิตามินบี 1 0.037 มิลลิกรัม 3%

  • วิตามินบี 3 0.594 มิลลิกรัม 4%

  • วิตามินบี 6 0.08 มิลลิกรัม 6%

  • วิตามินซี 14 มิลลิกรัม 17%

  • วิตามินอี 0.54 มิลลิกรัม 4%

  • วิตามินเค 7.9 ไมโครกรัม 8%

  • ธาตุแมกนีเซียม 11 มิลลิกรัม 3%

  • ธาตุแมงกานีส 0.114 มิลลิกรัม 5%

  • ธาตุฟอสฟอรัส 24 มิลลิกรัม 3%

  • ธาตุโพแทสเซียม 237 มิลลิกรัม 5%

  • ไลโคปีน 2,573 ไมโครกรัม

การปลูกมะเขือเทศ

สำหรับใครที่กำลังมองหา “วิธีปลูกมะเขือเทศ” ไว้รับประทานเองที่บ้านสามารถทำได้ง่าย ๆ โดยไม่ต้องห่วงเรื่องขนาดพื้นที่ ไม่ว่าคุณจะมีสวนหน้าบ้าน หลังบ้าน ระเบียง หรือพื้นที่ส่วนอื่นของบ้าน ก็สามารถปลูกมะเขือเทศได้ บทความนี้จะบอกคุณถึงองค์ความรู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับมะเขือเทศ อุปกรณ์ที่ใช้ปลูก และวิธีการในการปลูก ตั้งแต่เริ่มไปจนถึงการเก็บเกี่ยว ด้วยขั้นตอนง่าย ๆ กับ 9 เรื่องที่ต้องรู้ดังต่อไปนี้

1. สายพันธุ์

มะเขือเทศ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lycopersicon esculentum Mill. เป็นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีหลากหลายสายพันธุ์ดังต่อไปนี้

  • มะเขือเทศเชอร์รี่ (Cherry Tomato) หรือที่รู้จักกันอีกชื่อ คือ มะเขือเทศราชินี ซึ่งผลมีขนาดเล็กที่สุด ผลมีทั้งสีเหลืองและสีแดง เนื้อน้อย รสชาติและกลิ่นเข้มข้นกว่ามะเขือเทศพันธุ์อื่น ๆ ให้รสเปรี้ยวอมหวาน แต่ถ้าสุกจัดจะนิ่มและหวาน

  • มะเขือเทศสีดา (Srida Pink Egg Tomato) เป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกรับประทาน ผลมีสีแดงอมชมพู เนื้อค่อนข้างแข็ง ไม่มีกลิ่น มักให้รสชาติจืดและเปรี้ยวเป็นหลัก

  • มะเขือเทศเนื้อสีแดง (Red Tomato) ผลจะมีขนาดกลางค่อนไปทางใหญ่ ผลสุกมีสีแดงเข้ม เป็นพันธุ์ที่นิยมนำไปแปรรูปในอุตสาหกรรมอาหาร เพราะมีเนื้อและน้ำมาก แต่กลิ่นค่อนข้างแรง

  • มะเขือเทศอิตาลี (Italian Tree Tomato) ลำต้นใหญ่ ผลสีแดงสดขนาดกลาง-ใหญ่ มีหยักเล็กน้อย รสชาติดีมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เหมาะสำหรับปลูกไว้รับประทานหรือเป็นไม้ประดับ

  • มะเขือเทศเครือส้ม (Wild Tomato) เป็นมะเขือเทศพันธุ์ท้องถิ่น พบมากแถวภาคเหนือและภาคอีสาน เป็นไม้เลื้อย ออกลูกเป็นเครือ มีหลายสีทั้ง สีเขียว แดง และเหลือง ผลสุกเนื้อนิ่มและเนื้อน้อย ให้รสชาติจืดอมเปรี้ยว

2. อุปกรณ์

  • เมล็ดพันธ์ุ เลือกพันธุ์ที่ต้องการ เช่น พันธุ์ที่ปลูกทานสด หรือพันธุ์ที่ส่งโรงงาน

  • อุปกรณ์ในการเพาะต้นกล้า

    • กระบะเพาะ ถาดเพาะ กล่องพลาสติก หรือถุงปลูก

    • ดินผสม

    • ขุยมะพร้าวหรือฟาง

    • เครื่องมือการเกษตร เช่น พลั่ว ช้อนปลูก ส้อมพรวน คราด รถไถ มีด กรรไกรตัดแต่ง บัวรดน้ำ ท่อ ผาใบ และ สายยาง เป็นต้น เพื่อใช้ในช่วงที่มีการเตรียมดินก่อนที่จะเพาะปลูกลงดินจริง ตลอดจนการตัดแต่ง ดูแลรักษา และเก็บเกี่ยวผลผลิต

    • สารชีวภาพและปุ๋ย ตั้งแต่การนำปูนขาวมาช่วยในการปรับสภาพดิน ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกผสมลงในแปลง ตลอดมาจนการใส่ปุ๋ยตามสูตรเพื่อช่วยเร่งการเจริญเติบโตเพื่อพัฒนาใบ ดอกและการออกผล

3. ปลูกในสวนหลังบ้าน

ท่านสามารถเลือกปลูกมะเขือเทศได้เกือบทุกสายพันธุ์ โดยเริ่มจากการหาพื้นที่ในบริเวณบ้านที่มีแสงส่องตลอดทั้งวัน หรืออย่างน้อยประมาณ 6-8 ชั่วโมงต่อวัน นำต้นกล้าอายุประมาณ 15 วันมาลงในแปลงปลูก โดยผู้ปลูกต้องให้น้ำอยู่เสมอ ตั้งแต่เริ่มต้นปลูกจนผลเริ่มแก่ และอย่าลืมหมั่นดูแลต้นมะเขือเทศโดยการใส่ปุ๋ยหรือสารชีวภาพ รวมถึงการกำจัดวัชพืชบริเวณแปลงผัก และป้องกันสัตว์อื่น ๆ ไม่ให้มาทำลายหรือทำให้เกิดโรคได้

4. ปลูกแบบแขวน

เป็นอีกวิธีที่สะดวกในเคลื่อนย้าย แต่ผู้ปลูกจำเป็นต้องรดน้ำบ่อยขึ้น เพราะต้นมะเขือเทศไม่ได้อยู่บนพื้นดิน และโครงสร้างวัสดุที่ใช้ก็ต้องแข็งแรง ทั้งนี้การปลูกแบบแขวนมีข้อดีอยู่มากและยังทำได้ง่ายอีกด้วย เพียงแค่นำต้นกล้ามะเขือเทศพันธุ์ใดก็ได้จากกระบะเพาะอายุประมาณ 7-10 วันมาปลูกลงในกระถาง แล้วนำลวดหรือวัสดุมายึดไว้ จากนั้นนำไปแขวนในพื้นที่ที่ต้องการ เพียงแค่นี้ก็เสร็จสิ้น เหมาะสำหรับท่านที่มีพื้นที่จำกัดแต่อยากปลูกผักไว้ทาน

5. ปลูกในถุง

อีกหนึ่งวิธีที่กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายก็คือ การปลูกมะเขือเทศในถุง ซึ่งวิธีการก็ไม่ยุ่งยาก เพียงแค่นำต้นกล้าอายุประมาณ 7-10 วันจากกระบะเพาะ ย้ายมาปลูกในถุงดำขนาด 8 นิ้วขึ้นไป เมื่อต้นเริ่มโต ให้นำไม้มาทำหลักให้ต้นมะเขือเทศได้เกาะยึด จากนั้นก็ให้ปุ๋ยอินทรีย์เร่งใบ เร่งดอก หมั่นรดน้ำเป็นประจำ และที่สำคัญอย่าลืมให้ต้นมะเขือเทศได้รับแสงแดดที่เพียงพอ

6. ฤดู

แม้ว่ามะเขือเทศจะเติบโตได้ดีและสามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี แต่การออกผลกลับต้องอาศัยสภาพอากาศที่ค่อนข้างเย็น ฤดูที่เหมาะที่สุดในการปลูกจึงเป็นฤดูหนาว โดยช่วงหยอดเมล็ดพันธุ์ควรอยู่ระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม เพราะนอกจากจะเหมาะต่อการติดผลแล้ว ยังลงทุนต่ำกว่าฤดูอื่นและให้ผลิตสูง รวมถึงศัตรูพืชก็รบกวนน้อยอีกด้วย

7. ปลูกแบบไฮโดรฯ

ไฮดรอโปนิกส์ก็คือการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน โดบเราสามารถปลูกมะเขือเทศได้ในขวดพลาสติกด้วยขั้นตอนดังนี้

  • นำเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศวางบนทิชชูเปียกบนกระบะเพาะประมาณ 1-3 วัน

  • ย้ายเมล็ดพันธุ์มาวางบนฟองน้ำขนาด 1x1 นิ้ว ที่ชุ่มน้ำ รอประมาณ 1 สัปดาห์

  • ทำการย้ายต้นกล้าลงบนขวดพลาสติกที่ผสมธาตุอาหาร A และ B ไว้เรียบร้อยแล้ว หมั่นดูแลรักษาระดับน้ำ ทุก ๆ 2-3 วัน

  • รอเก็บเกี่ยว

เพียงแค่นี้ท่านก็มีมะเขือเทศผลสดแดงแบบไร้ดินไว้รับประทาน ที่สำคัญวิธีนี้ปลูกได้ตลอดทั้งปี แถมมีศัตรูพืชรบกวนน้อยอีกด้วย

8. การดูแล

  1. การพรวนดินกลบต้น: เพื่อสามารถให้น้ำได้อย่างสะดวก น้ำไม่ขัง ช่วยให้มะเขือเทศเกิดรากมากขึ้น โดยให้ทำในช่วงที่ต้นกล้าตั้งตัวได้แล้ว

  2. คลุมด้วยหญ้า: ให้นำหญ้าหรือฟางมาคลุมต้นจะช่วยกำจัดวัชพืชและกักเก็บความชื้นไว้ได้

  3. การปักค้าง: เพื่อให้ต้นเจริญเติบโตได้ดี ดูแลและฉีดยากำจัดวัชพืชได้ทั่วถึง ควรทำก่อนระยะออกดอก

  4. เขย่าไม้ค้ำหรือหลักเบา ๆ : เพื่อเป็นการกระตุ้น ช่วยเพิ่มปริมาณการออกผล โดยทำสัปดาห์ละครั้ง ครั้งละ 2-5 วินาที ให้ทำในช่วงที่เริ่มผลิดอก

  5. รดน้ำทุก 7-10 วัน: แต่สำหรับการปลูกแบบแขวนแนะนำให้รดน้ำ 3-5 วัน ซึ่งการรดน้ำแบบหยดหรือฝังท่อ จะดีกว่าการรดน้ำจากด้านบน

  6. การเลือกปุ๋ย: เพื่อช่วยเพิ่มการเจริญเติบโตที่ดี รวมถึงต้องเลือกสูตรปุ๋ยให้เหมาะสมกับความต้องการ เช่น สูตรปุ๋ยเร่งใบ สูตรปุ๋ยเร่งดอก หรือสูตรปุ๋ยบำรุงผล

9. การเก็บเกี่ยว

โดยเฉลี่ยแล้วเมื่อปลูกได้ประมาณ 30-45 วัน มะเขือเทศก็จะเริ่มออกดอก ถัดมาเมื่ออายุประมาณ 70-90 วัน (3เดือน) ก็สามารถที่จะเริ่มเก็บเกี่ยวผลได้ รอจนผลสุกดีแล้วค่อยเก็บมาทำอาหารตามที่ต้องการ

เป็นอย่างไรกันบ้าง กับ “วิธีปลูกมะเขือเทศ” ตั้งแต่การทำความรู้จักสายพันธุ์ การเริ่มต้นเพาะปลูก อุปกรณ์ วิธีการและลักษณะการเพาะปลูกให้เหมาะสมกับขนาดพื้นที่ ตลอดจนการดูแลรักษาไปจนถึงการเก็บเกี่ยว ที่ได้ถ่ายทอดให้แก่ทุกท่านได้ทราบและลองนำไปประยุกต์ใช้กับพื้นที่ว่างในบ้านของท่านเพื่อให้ได้ผักสดปลอดสารพิษไว้รับประทานอย่างประหยัด

ข้อมูลทั่วไป

  • อายุ 4-5 เดือน

  • แดด เต็มวัน

  • ดิน ร่วน

  • ชุ่มน้ำ 1-2 ครั้ง

  • เมล็ด

  • สูง ประมาณ 10 ม.

แหล่งอ้างอิง : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (EN)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)