ศาสตร์พระราชา

ศาสตร์พระราชา คือ ความรู้ที่ได้จากพระราชา

"ขาดทุนคือกำไร"

“...ประเทศต่างๆ ในโลกในระยะ ๓ ปีมานี้ คนที่ก่อตั้งประเทศที่มีหลักทฤษฎีในอุดมคติที่ใช้ในการปกครองประเทศ ล้วนแต่ล่มสลายลงไปแล้ว เมืองไทยของเราจะสลายลงไปหรือ เมืองไทยนับว่าอยู่ได้มาอย่างดี เมื่อประมาณ 10 วันก่อน มีชาวต่างประเทศมาขอพบ เพื่อขอโอวาทเกี่ยวกับการปกครองประเทศว่าจะทำอย่างไร

จึงได้แนะนำว่า ให้ปกครองแบบคนจน แบบที่ไม่ติดกับตำรามากเกินไป ทำอย่างมีสามัคคีมีเมตตากัน ก็จะอยู่ได้ตลอด ไม่เหมือนกับคนที่ทำตามวิชาการที่เวลาปิดตำราแล้วไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ลงท้ายก็ต้องเปิดหน้าแรกเริ่มต้นใหม่ ถอยหลังเข้าคลอง ถ้าเราใช้ตำราแบบอะลุ้มอะล่วยกัน ในที่สุดก็เป็นการดี

ให้โอวาทเขาไปว่า “ขาดทุนเป็นการได้กำไรของเรา” นักเศรษฐศาสตร์คงค้านว่าไม่ใช่ แต่เราอธิบายได้ว่า ถ้าเราทำอะไรที่เราเสีย แต่ในที่สุดที่เราเสียนั้น เป็นการได้ทางอ้อม

ตรงกับงานของรัฐบาลโดยตรง เงินของรัฐบาลหรืออีกนัยหนึ่งคือ เงินของประชาชน ถ้าอยากให้ประชาชนอยู่ดี กินดี ก็ต้องลงทุน ต้องสร้างโครงการซึ่งต้องใช้เงินเป็นร้อย พัน หมื่นล้าน ถ้าทำไปเป็นการจ่ายเงินของรัฐบาล แต่ในไม่ช้าประชาชนจะได้รับผล ราษฎรอยู่ดีกินดีขึ้น ราษฎรได้กำไรไป

ถ้าราษฎรมีรายได้ รัฐบาลก็เก็บภาษีได้สะดวก เพื่อให้รัฐบาลได้ทำโครงการต่อไป เพื่อความก้าวหน้าของประเทศชาติ ถ้ารู้รักสามัคคี รู้เสียสละ คือการได้ ประเทศชาติก็จะก้าวหน้า และการที่คนอยู่ดีมีสุขนั้น เป็นการนับที่เป็นมูลค่าเงินไม่ได้...”

พระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานแก่ตัวแทนของปวงชนชาวไทยที่ได้เข้าเฝ้าฯถวายพระพรเนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2534 ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

การพัฒนาที่ยั่งยืน

...“เป้าหมายในการพัฒนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน’ เพื่อปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของคน โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ให้คนมีความสุข โดยต้องคำนึงเรื่องสภาพภูมิศาสตร์ ความเชื่อทางศาสนา เชื้อชาติ และภูมิหลังทางเศรษฐกิจ สังคม แม้ว่าวิธีการพัฒนามีหลากหลาย แต่ที่สำคัญคือนักพัฒนาจะต้องมีความรัก ความห่วงใย ความรับผิดชอบ และการเคารพในเพื่อนมนุษย์ จะเห็นได้ว่าการพัฒนาเกี่ยวข้องกับมนุษยชาติ และเป็นเรื่องของจิตใจ”

พระราชดำรัส สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

จากหนังสือพระมหากษัตริย์นักพัฒนาเพื่อประโยชน์สุขสู่ปวงประชา พุทธศักราช 2554, หน้า 28-29

ศาสตร์พระราชา คือ ความรู้ที่ได้จากพระราชา (องค์ความรู้ที่ว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืน) ทรงศึกษา คิดค้น และวิจัย แล้วพระราชทานให้กับปวงชนชาวไทย เพื่อใช้ในการจัดการลุ่มน้ำ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ สู่ปลายน้ำ จากภูผาสู่มหานที เมื่อนำองค์ความรู้นี้มาปฏิบัติตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ จะนำไปสู่การพึ่งพาตนเองและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

พระราชประสงค์ของพระองค์คือการพัฒนา และยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ และจิตใจ ของประชาชนคนไทยเป็นสำคัญ

ศาสตร์พระราชา แบ่ง ได้เป็น ศาสตร์แห่งการพัฒนา ศาสตร์แห่งการประพฤติ ศาสตร์แห่งการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติ

สรุปศาสตร์พระราชา คือ สิ่งที่พ่อคิด (11 สิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับการจดสิทธิบัตร) กิจที่พ่อทำ (โครงการพระราชดำริ 4,685 โครงการ) คำที่พ่อสอน (พระบรมราโชวาท) พรที่พ่อให้ (ส.ค.ส.)

องค์ความรู้ของศาสตร์พระราชาเกี่ยวข้องกับ ดิน น้ำ ป่าไม้ โดยคำนึงถึง มีความสมเหตุสมผล ทำได้ง่ายไม่ยุ่งยาก ยืดหยุ่นได้ตามสภาพภูมิสังคม เพื่อมุ่งไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แก่ ปลูกพืชแทนฝิ่น การปลูกป่าตามภูมิสังคม ปลูกป่าต้นน้ำ ทำฝ่ายน้ำลงดิน ป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง ธนาคารต้นไม้ น้ำดีไล่น้ำเสีย จุลินทรีย์ท้องภิ่น ลดการใช้สารเคมีในครัวเรือน โคก หนอง นาโมเดล เปลี่ยนเขาหัวโล้นเป็นเขาหัวจุก เป็นต้น

แนววิธีคิดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ไม่มีรูปแบบตายตัว พิจารณาปรับใช้ตามความเหมาะสม ไม่ใช่แค่แนวคิดทางการเกษตร)

“...เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้นั่นเอง สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็ม แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็ม และลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำไป...”

พระราชดำรัส พระราชทานผ่านมูลนิธิชัยพัฒนา

จากวารสารชัยพัฒนา ประจำเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2542

น้อมนำ "เศรษฐกิจพอเพียง" สู่แผนพัฒนาชาติแบบยั่งยืน

ความพอประมาณ คือ รู้จักตนเอง รู้จักสิ่งที่จะทำ โดย การคิด พูด ทำ อย่างประมาณตน โดยพื้นฐานความเป็นจริงให้เกิดความพอดี พอเหมาะ พอควร โดยไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับตนเองและผู้อื่น ควรมีเวลาพักผ่อน เพื่อทำให้ชีวิตมีความสมดุล

ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับความพอเพียง ต้องยึดหลักความมีเหตุผล (ไม่ต้องไม่ใช้อารมณ์) ถูกต้องตามหลักความเป็นจริง โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถือผลที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต อย่างรอบคอบ

การมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี คือ การไม่ประมาท ไม่เสี่ยง มีความรอบคอบ เตรียมตัวให้พร้อมกับผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ (รู้จักความเสี่ยง และวิธีรับมือที่เหมาะสม)

ความรู้ ประกอบด้วย ความรู้ ความชำนาญทางวิชาการที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ใช้ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผนและมีการระมัดระวังในการปฏิบัติทุกขั้นตอน

คุณธรรม ประกอบด้วย ละอายในการทำความชั่ว ตั้งมั่นในการทำดี มีความซื่สัตย์สุจริต รับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม

บันไดเก้าขั้นสู่ความสำเร็จ

บันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียง

เศรษฐกิจพอเพียง ขั้นพื้นฐาน ขั้นที่ 1-4 (หลักปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง) (ปัจจัย 4)

พอกิน มีกินเพียงพอ ทั้งข้าว ปลา พืชผัก และนาอินทรีย์

พอใช้ เครื่องใช้ไม้สอยต่าง ๆ ทำฟืน ทำของใช้ต่าง ๆ ได้จาก ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง

พออยู่ ปลูกที่อยู่ บ้าน รั้ว ฯลฯ ได้จาก ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง

พอร่มเย็น ร่มเงาจากต้นไม้ใหญ่ ได้จาก ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง

เศรษฐกิจพอเพียง ขั้นก้าวหน้า ขั้นที่ 5-9

บุญ เมื่อมีเหลือ จึงนำไปทำบุญ ในงานบุญต่าง ๆ

ทาน บริจาคทานแก่ผู้ยากไร้ ผู้ไม่มีด้วยของที่เรามี

เก็บ เป็นรากฐานยามวิกฤติ เช่น เก็บข้าวในยุ้งฉาง เก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อฤดูกาลหน้า ถนอมอาหารไว้กิน

ขาย จากสิ่งที่เราทำเหลือ เพื่อมอบสิ่งที่เป็นประโยชน์ไปต่อยังผู้อื่น

ข่าย เชื่อมโยงเครือข่ายทั้งประเทศ เพื่อแบ่งปันความรู้ ลงแรงช่วยเหลือกัน

ฐานที่ 2 ศาสตร์พระราชา

สถานที่ หน้าสวนผักสวนครัว

- หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ,

- เกษตรทฤษฎีใหม่

- การนำความรู้มาประยุกต์ใช้

- ฯลฯ

- คลังความรู้ศาสตร์พระราชา

ศาสตร์พระราชา

- ศาสตร์แห่งการพัฒนา (สิ่งที่พ่อคิด)

สิ่งประดิษฐ์ของพระราชา

- ศาสตร์แห่งการประพฤติ (กิจที่พ่อทำ) จากโครงการพระราชดำริ 4,685

ด้านการเกษตร

ด้านการปกครอง

ด้านสาธารณสุข

ด้านการศึกษา

ด้านเทคโนโลยี

ด้านสิ่งแวดล้อม

ด้านการยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิต

- ศาสตร์แห่งการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติ (คำที่พ่อสอน)

- (พรที่พ่อให้)