พริกชี้ฟ้า

พริกชี้ฟ้า ชื่อวิทยาศาสตร์ Capsicum annuum L. (Capsicum annuum var. acuminatum Fingerh.) จัดอยู่ในวงศ์มะเขือ (SOLANACEAE)[1],[2]

สมุนไพรพริกชี้ฟ้า มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า พริกเดือยไก่ พริกหนุ่ม พริกหลวง (ภาคเหนือ), พริกแล้ง (เชียงใหม่), พริกมัน พริกเหลือง (กรุงเทพฯ) เป็นต้น[1]

ลักษณะของพริกชี้ฟ้า

  • ต้นพริกชี้ฟ้า มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้ ถูกนำเข้ามาปลูกและขยายพันธุ์เพื่อเก็บผลขายในประเทศไทยแต่โบราณแล้ว โดยจัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีอายุประมาณ 1-3 ปี มีความสูงได้ประมาณ 0.3-1.2 เมตร ลำต้นเปราะหักง่าย แตกกิ่งก้านหนาแน่นเป็นพุ่ม เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาล กิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยม ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด ปลูกกลางแจ้งจะดีเพราะน้ำไม่ท่วม เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วน ระบายน้ำดี หรือปลูกบนดินรังปลวกก็จะมีอายุอยู่ได้นาน พบได้ทุกภาคในประเทศไทย แต่พบได้มากทางภาคเหนือและกรุงเทพฯ[1],[2],[3]

  • ใบพริกชี้ฟ้า ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับหรือออกตรงข้ามกัน บางพันธุ์ก็ออกเป็นคู่ ๆ ลักษณะของใบเป็นรูปหัวใจเรียว รูปวงรี รูปใบหอก หรือเป็นรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบแหลมหรือเว้าเล็กน้อย ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-10 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้ม เนื้อใบนิ่ม หลังใบและท้องใบเรียบ[1],[2],[3]

    • ดอกพริกชี้ฟ้า ออกดอกเป็นช่อหรือออกดอกเดี่ยวชี้ขึ้น โดยจะออกตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง ดอกเป็นสีขาวหรือสีขาวอมเขียว มีกลีบดอก 5 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน ส่วนกลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันปลายตัดหรือเป็นหยัก 5 หยัก ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี[1],[2],[3]ผลพริกชี้ฟ้า ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมยาว ปลายผลแหลม ผลอ่อนเป็นสีเขียวแก่ เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีส้มและสีแดง ผิวผลเป็นมัน ปลายผลชี้ตั้งขึ้น ผลมีรสเผ็ดร้อนพอประมาณ ส่วนเมล็ดมีลักษณะแบนเรียบ สีเหลืองหรือสีขาวนวล และมีจำนวนมาก สามารถติดผลได้ตลอดปี[1],[2]

สรรพคุณของพริกชี้ฟ้า

  1. พริกมีสรรพคุณช่วยทำให้เจริญอาหาร บำรุงธาตุในร่างกาย (ผล, เมล็ด)[1],[2],[4]

  2. ช่วยแก้กระษัย (เมล็ด)[1]

  3. สารแคปไซซินที่มีอยู่ในพริกทุกชนิด จะมีสรรพคุณช่วยระบบหายใจ หัวใจ และความดัน (ผล)[4]

  4. พริกสามารถลดความดันโลหิตได้ เพราะทำให้เลือดอ่อนตัว และทำให้ระบบการไหลเวียนของเลือดเป็นไปได้ด้วยดี (ผล)[2]

  5. ช่วยเร่งการย่อยสลาย ขับเหงื่อ และช่วยลดน้ำหนักได้ดี (ผล)

  6. ช่วยลดอาการหวัดคัดจมูก (ผล)[4]

  7. ช่วยแก้อาเจียน (ผล)[2]

  8. ช่วยขับเสมหะ (ผล)[2]

  9. พริกสามารถช่วยกระตุ้นการทำงานของกระเพาะอาหาร ทำให้ระบบการย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น (ผล, ใบ)[2],[3]

  10. ช่วยแก้ลมจุกเสียด แก้อาการท้องขึ้นอืดเฟ้อ เรอเปรี้ยว แก้แน่น ลดกรดในกระเพาะ ช่วยขับผายลม และช่วยในการย่อยอาหาร (ผล, เมล็ด, ใบ)[1],[2],[3],[4]

  11. พริกมีสรรพคุณเป็นยาระบายอ่อน ๆ (ผล)[4]

  12. เมล็ดมีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะ (เมล็ด)[1] ต้นนำมาเผาให้เป็นถ่าน มีสรรพคุณใช้ขับปัสสาวะเช่นกัน (ต้น)[4]

  13. ช่วยรักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก (เมล็ด)[1]

  14. ช่วยแก้หิด กลาก เกลื้อน (ผล)[2]

  15. ช่วยยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์บางชนิดได้ (ผล)[4]

  16. ช่วยแก้อาการเคล็ดขัดยอก แก้อาการปวดตามข้อ ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดตามบั้นเอว ฟกช้ำดำเขียว ช่วยทำให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น และช่วยแก้ตะคริวได้ (ผล, เมล็ด)[1],[4]

  17. ต้นนำมาเผาให้เป็นถ่าน ใช้เป็นยาแก้เส้นเอ็นพิการ แก้ปวดเมื่อย (ต้น)[4] ส่วนเมล็ดก็มีสรรพคุณช่วยแก้เส้นเอ็นพิการได้เช่นกัน (เมล็ด)[1]

หมายเหตุ : วิธีการใช้ตาม [2] ให้นำผลพริกมาปรุงเป็นอาหาร โดยรับประทานได้ไม่จำกัดจำนวน[2] ห้ามถูกแผลเพราะจะทำให้ปวดแสบ[3]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของพริกชี้ฟ้า

  • สารสำคัญที่พบในบริเวณไส้ของผลพริก คือ "แคปไซซิน" (Capsaicin) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้พริกมีรสเผ็ดร้อนและมีกลิ่นฉุน โดยสารชนิดนี้สามารถยับยั้งการขนส่งน้ำตาลกลูโคสผ่านลำไส้ได้ จึงมีผลทำให้ระดับน้ำตาลในร่างกายลดลง ส่วนสารสำคัญที่ทำให้พริกมีสีส้มหรือสีแดง คือ แคโรทีนอยด์ (Carotenoid) ซึ่งประกอบไปด้วยสารแคโรทีน (Carotene), แคปซันทิน (Capsanthin), แคปซารูบิน (Capsarubin), ลูทีโอลิน (Luteolin) ส่วนในเมล็ดพริกมีสารโซลานีน (Solanine) และโซลานิดีน (Solanidine) นอกจากนี้พริกยังมีสารอาหารอีกมากมาย เช่น ไขมัน คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ใยอาหาร วิตามินเอ วิตามินบี1 วิตามินบี2 วิตามินบี3 วิตามินซี แคลเซียม ธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส เป็นต้น[2]

  • เมื่อปี ค.ศ.1980 มีการทดลองพบว่า น้ำสกัดจากผลพริกสามารถลด fasting blood glucose แต่ขึ้นอยู่กับขนาดของยาที่ให้ และการให้สารสกัดทางปากสามารถลด intracardiac glucose tolerance curve เมื่อทำการแยกสาร Capsaicin มาทดลอง พบว่า สารนี้มีผลยับยั้งการขนส่งกลูโคสผ่านลำไส้ ซึ่งอาจเกิดจากการสลายกลูโคสเป็นกรดแลกติก หรือมีผลยับยั้งต่อ ATPase-dependent sodium pump[2]

  • เมื่อปี ค.ศ.1980 ได้มีการทดลองใช้สาร Capsaicin ในหนูที่เกิดใหม่กับหนูอายุ 3 เดือน ผลการทดลองพบว่า หนูเกิดใหม่มีระดับน้ำตาลในเลือดลดลง แต่ไม่ได้ผลในหนูอายุ 3 เดือน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะหนูทนต่อยาได้มากขึ้นก็เป็นได้[2]

ประโยชน์ของพริกชี้ฟ้า

  • ผลอ่อนและผลแก่ใช้เครื่องประกอบอาหาร[3]

  • ยอดอ่อนและใบอ่อนสามารถนำมาประกอบอาหารได้ เช่น แกงอ่อม แกงเลียง เป็นต้น[3]

  • การรับประทานพริกเป็นประจำจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งและป้องกันการเป็นโรคหัวใจและโรคหลอดลมอักเสบได้ เนื่องจากพริกมีสารต้านอนุมูลอิสระอยู่หลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิตามินเอ[2]

  • พริกยังถูกนำมาใช้เป็นส่วนผสมในขี้ผึ้งทาถูนวด เพื่อแก้อาการปวดเมื่อยบวมและลดอาการอักเสบ เพราะทำให้ผิวหนังบริเวณที่ทายามีเลือดมาเลี้ยงมากยิ่งขึ้น จึงช่วยแก้อาการเป็นตะคริวได้ด้วย[2],[4]

  • นอกจากนี้พริกยังใช้เป็นส่วนผสมในยาธาตุ ยาแก้ปวดหลัง เนื่องจากสารสกัด Capsaicin จากพริกสามารถช่วยกระตุ้นการหลั่งของเอนไซม์บางชนิดได้ ซึ่งทำให้กระเพาะอาหารและลำไส้เกิดการบีบตัวและคลายตัว[2],[4]

คุณค่าทางโภชนาการของพริกชี้ฟ้า

  • พริกชี้ฟ้าเขียว 100 กรัม จะประกอบไปด้วย พลังงาน 129 แคลอรี, น้ำ 63.8%, โปรตีน 1.5 กรัม, ไขมัน 0.5 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 29.8 กรัม, ใยอาหาร 2.2 กรัม, เถ้า 2.2 กรัม, วิตามินเอ 1,917 หน่วยสากล, วิตามินบี1 0.07 มิลลิกรัม, วิตามินบี2 0.01 มิลลิกรัม, วิตามินบี3 0.1 มิลลิกรัม, วิตามินซี 204 มิลลิกรัม, แคลเซียม 103 มิลลิกรัม, ธาตุเหล็ก 0.5 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส 27 มิลลิกรัม[3]

  • พริกชี้ฟ้าแดง 100 กรัม จะประกอบไปด้วย พลังงาน 58 แคลอรี, น้ำ 84%, โปรตีน 2.8 กรัม, ไขมัน 2.3 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 6.6 กรัม, ใยอาหาร 3.5 กรัม, เถ้า 0.8 กรัม, วิตามินเอ 10,000 หน่วยสากล, วิตามินบี1 0.16 มิลลิกรัม, วิตามินบี2 0.24 มิลลิกรัม, วิตามินบี3 3.5 มิลลิกรัม, วิตามินซี 168 มิลลิกรัม, แคลเซียม 3 มิลลิกรัม, ธาตุเหล็ก 1.3 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส 18 มิลลิกรัม[3]

การปลูกพริกชี้ฟ้า

1. การเพาะกล้า

การปลูกพริกจำเป็นต้องเลือกพันธุ์พริกที่ต้องกับความต้องการบริโภคหรือตามความต้องการของตลาด ซึ่งอาจต้องพิจารณาความนิยม และราคาเป็นสำคัญ เช่น พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า พริกหยวก พริกหวาน เป็นต้น

การเพาะเป็นขั้นแรกของการเริ่มปลูก ซึ่งจำเป็นต้องเพาะกล้าในแปลงเพาะหรือกะบะเพาะชำเพื่อให้ได้ต้นกล้าอ่อนก่อนย้ายออกปลูกในแปลงปลูก โดยนำเมล็ดพันธุ์แช่น้ำไว้ 1 คืน และวางในร่ม 1-2 วัน พร้อมทำการเพาะตามขั้นตอน ดังนี้

  • เตรียมดินเพาะหรือแปลงเพาะด้วยการผสมดินกับเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น มูลสัตว์ แกลบ ขี้เถ้าแกลบ ขุยมะพร้าว เป็นต้น ในอัตราส่วนระหว่าดินกับวัสดุ 2:1

  • แปลงเพาะอาจเตรียมในแปลงดินที่ว่าง โดยการยกร่องแปลงสูง 20-30 เซนติเมตร หากเพาะในแปลงให้คลุกดินกับวัสดุในแปลง แต่หากเพาะในกะบะให้เตรียมด้านนอกก่อน

  • การเพาะในแปลงให้หว่านเมล็ดพันธุ์ในอัตรา 30 กรัม/ตารางเมตร

  • การเพาะในกะบะเพาะให้หยอดเมล็ดพันธุ์ 3-4 เมล็ด/หลุม ขึ้นอยู่กับขนาดหลุมกะบะ พร้อมโรยดินกลบเล็กน้อย เมื่อกล้าโต 5-10 เซนติเมตร ให้ถอนเหลือหลุมละต้น

  • หลังการหว่านหรือหยอดเมล็ดให้รดน้ำให้ชุ่ม และรดน้ำทุกวัน วันละ 1-2 ครั้ง

2. การเตรียมดิน

แปลงที่ใช้ปลูกควรไม่เสี่ยงต่อน้ำท่วม และสามารถระบายน้ำได้ดีหากฝนตก ซึ่งให้เตรียมแปลง ดังนี้

  • หากเป็นแปลงใหม่ ควรไถตากดินพร้อมกำจัดวัชพืช นาน 1 สัปดาห์

  • ทำการหว่านปุ๋ยคอกในอัตรา 2-3 ตัน/ไร่ หากดินเป็นกรดควรใส่ปูนขาว 100-200 กิโลกรัม/ไร่ พร้อมไถกลบยกร่องแปลงสูง 20-30 เซนติเมตร กว้าง 40-60 เซนติเมตร

  • แปลงกว้างขนาด 30-50 สำหรับปลูกแถวเดี่ยว แปลงกว้าง 80-100 สำหรับปลูกแถวคู่ ขึ้นอยู่กับทรงพุ่มของแต่ละพันธุ์

  • ปรับระดับแปลง พร้อมกำจัดวัชพืช และตากดินพร้อม 2-3 วันการย้ายกล้าลงแปลงปลูก ก่อนนำต้นกล้าลงแปลงปลูก ให้ใช้ปุ๋ย ไบ.โอ.ฮิวมัส.พลัส หรือปุ๋ยชีวภาพรองก้นหลุม อัตรา 1 ช้อนแกง ต่อหลุม คลุกเคล้าให้เข้ากับดิน เพื่อป้องกัน โรครากเน่า โคนเน่าแล้วรดน้ำตามทันที หรืออาจใช้ปุ๋ยดินทอง (ปุ๋ยชีวภาพ) อัตรา 3 ช้อนแกงต่อน้ำ 20 ลิตรราดดินหรือคลุกเคล้ากับดิน เพื่อใช้ในการรองพื้นก่อนการปลูกพืช

3. วิธีการปลูก

เมื่อต้นกล้ามีอายุ 30-40 วัน สูงประมาณ 15-20 เซนติเมตร มีใบจริง 5-7 ใบ และให้งดน้ำต้นกล้า 2-3 วันก่อนย้อยปลูก โดยมีขั้นตอนปลูก ดังนี้

  • ขุดหลุมในระยะห่างระหว่างหลุม 50 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับทรงพุ่มของแต่ละพันธุ์

  • นำกล้าที่ถอนเตรียมไว้ลงหลุมปลูก พร้อมกลบดินให้แน่นพอประมาณ

  • รดน้ำให้ชุ่ม และรดทุกวัน วันละ 1-2 ครั้ง

4. การดูแลรักษา

  • เมื่อกล้าตั้งต้นได้ประมาณ 1-2 อาทิตย์ ให้คลุมแปลงรอบโคนต้นพริกทั้งหมดด้วยผ้าพลาสติกหรือฟางข้าว

  • การให้น้ำควรให้ทุกวันในระยะแรก 1-2 ครั้ง และวันเว้นวันในช่วงผลแก่

  • การใส่ปุ๋ย ควรใส่ปุ๋ยคอกอัตรา 500 กิโลกรัม/ไร่ ทุก 3 เดือน ร่วมด้วยปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือ 14-14-21 อัตรา 20 กิโลกรัม/ไร่ และระยะออกดอกให้ใส่สูตร 12-12-24 อัตรา 15 กิโลกรัม/ไร่

  • การกำจัดวัชพืช ควรกำจัดทุกๆ 1 เดือน โดยเฉพาะบริเวณรอบโคนต้น การบำรุงต้นและผล เพื่อกระตุ้นให้ต้น พริกเจริญเติบโตเร็ว ออกดอกสม่ำเสมอ ให้ผลดก ผลมีขนาดใหญ่ ไม่มีโรคแมลงมา รบกวน ให้ใช้ปุ๋ยทรีซิน อัตรา 50 ซีซี. + ทรี เท็คซีน อัตรา 30 กรัม (เพื่อป้องกันและกำจัด เชื้อรา) + ซิลเวอร์เอ๊กซ์ตร้า บี.96 อัตรา 30 ซีซี. (เพื่อเร่งการเจริญเติบโตของต้นพริก) และในช่วงออกดอกให้ใช้ซิลเวอร์เอ็กซ์ตร้า สูตรเดตาดอกแทน + ทรีสตาร์ 5 ซีซี. + เซฟตี้ คิล 50 ซีซี. (เพื่อป้องกันและกำจัดแมลง) + สารจับใบ ผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นต้นพริก ทุกๆ 7 วัน ถ้ามีโรคและแมลงมารบกวน ให้ ฉีดพ่นทุก 3-5 วัน และก่อนเก็บผลผลิต ประมาณ 1 สัปดาห์ให้ใช้วานาก้า 20 ซีซี. ฉีดรวมเข้าไปด้วย เพื่อทำให้พริกผลโต สี สวย ได้น้ำหนัก หรือเพื่อความสะดวกและ ประหยัดค่าใช้จ่าย อาจใช้ปุ๋ยชีวภาพปาณิ อัตรา 10 ซีซี.+ปุ๋ยปาณิแครป 10 ซีซี. + น้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นเพื่อกระตุ้นให้ต้นพริกเจริญ เติบโตออกดอกสม่ำเสมอ ให้ผลดก ผลมี ขนาดใหญ่ ไม่มีโรคแมลงรบกวน โดยฉีดพ่น ต้นพริก 7-10 วันต่อครั้ง แต่ถ้ามีโรคแมลงมารบกวน อาจฉีดพ่นทุก 3-5 วันและก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต 1 สัปดาห์ การใช้ปุ๋ย หลังย้ายต้นกล้าแล้ว 5 วัน อาจมีการใช้ปุ๋ยสูตร 46-0-0 ร่วมกับ 15-15-15 อย่างละ 1 กก. ผสมน้ำ 20 ลิตร หยอดบริเวณโคนต้น เพื่อเร่งการเจริญเติบโต หลังจากนั้น 7 วัน หยอดปุ๋ยซ้ำอีกครั้ง โดยเพิ่ม ปริมาณปุ๋ยอีกอย่างละ 1 กก. จนต้นพริกมี อายุ 30 วัน ให้ทำการฝังปุ๋ยสูตร 15-15-15 ร่วมกับ 13-21-0 อัตรา 1 ช้อนแกงต่อหลุม โดยฝังให้ห่างโคนต้น 1 ฝ่ามือ เพื่อเร่งการ ออกดอก พอต้นพริกอายุได้ 45-50 วัน ให้ทำ การฝังปุ๋ยสูตร 13-13-21 อัตรา 1 ช้อนแกงต่อ หลุม เพื่อบำรุงเมล็ดพริก แต่ถ้าสมาชิกจะ หลีกเลี่ยงปุ๋ยสูตรดังกล่าว และหันมาใช้ปุ๋ย ชีวภาพที่มีขายในท้องตลาดเช่น ปุ๋ยปาณิ + ปุ๋ยปาณิแครป อัตรา อย่างละ 10 ซีซี. ฉีดพ่น ทุก 7-10 วันจนต้นพริกเก็บเกี่ยวผลผลิต การให้น้ำ ช่วงย้ายกล้าให้น้ำทุก ๆ 3 วัน จนต้นพริกมาอายุได้ 15 วัน จึงเปลี่ยนเป็น การให้น้ำสัปดาห์ 1 ครั้ง ปัญหาเรื่องโรคและแมลง มีการทำลายน้อยมาก ถ้ามีการใช้ปุ๋ยชีวภาพอย่างสม่ำเสมอและถูกต้อง ส่วนมากปัญหาที่พบคือ ยอดหงิก ซึ่งมีสาเหตุมาจากเพลี้ยไฟ ก็อาจ จะมีการป้องกันด้วยการถอนทำลายต้นทิ้ง หรืออาจมีการใช้สารเคมีบ้างในยามที่จำเป็น

การเก็บผลผลิต

การเก็บผลพริกจะเริ่มเก็บเมื่อพริกเริ่มเปลี่ยนสี ขึ้นกับสายพันธุ์ที่ปลูก โดยทั่วไปพริกจะเก็บผลผลิตได้ประมาณ 2-3 เดือน หลังย้ายปลูกในแปลง

ดอกพริกชี้ฟ้า
พริกชี้ฟ้าเขียว
พริกชี้ฟ้าแดง

เอกสารอ้างอิง

  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “พริกชี้ฟ้า (Prik Chi Fa)”. หน้า 191.

  2. หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “พริกชี้ฟ้า”. หน้า 112-113.

  3. ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “พริกชี้ฟ้า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [29 ส.ค. 2014].

  4. รายการสาระความรู้ทางการเกษตร ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่. “พริกชี้ฟ้า”. บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร ประจำวันจันทร์ที่ 26 เมษายน 2547. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : natres.psu.ac.th. [29 ส.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by RoOoNa, Achim, Gerda Bats), www.eco-agrotech.com, www.matichon.co.th (by พงษ์สันต์ เตชะเสน)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)