เก๊กฮวย

เก๊กฮวย ภาษาอังกฤษ Chrysanthemum มีอยู่หลายสายพันธุ์ โดยสายพันธุ์หลักที่ใช้เป็นยาได้แก่ ดอกเก๊กฮวยสีขาว (ชื่อวิทยาศาสตร์ Dendranthema morifolium (Ramat.) Tzvel.) หรือ Chrysanthemum morifolium Ramat. และดอกเก๊กฮวยสีเหลือง (ชื่อวิทยาศาสตร์ Dendranthema indicum L.) หรือ Chrysanthemum indicum L. สำหรับสายพันธุ์อื่นก็เช่น ดอกเก๊กฮวยป่า (ชื่อวิทยาศาสตร์ Dendranthema boreale (Makino) Ling) โดยคุณสมบัติเด่นของเก๊กฮวยก็คือ มีกลิ่นฉุน มีรสขมและรสหวาน มีฤทธิ์เป็นยาเย็น

เก๊กฮวย เป็นพืชดั้งเดิมของประเทศจีนและญี่ปุ่น แต่ภายหลังได้แพร่กระจายไปทั่วในประเทศกัมพูชา ลาว รวมถึงบ้านเราด้วย ซึ่งจะเพาะปลูกได้ดีในพื้นที่สูงของประเทศ โดยมีการจำหน่ายเป็นดอกสด สำหรับดอกเก๊กฮวยที่นำมาใช้ควรเป็นดอกสีขาวหรือดอกสีเหลือง และไม่ใช่สายพันธุ์ที่เก็บมาจากในป่าเพราะอาจเป็นคนละชนิดกัน

ลักษณะ

ดอกเก๊กฮวย มีสารพวกฟลาโวนอยด์ (Flavonoid), สารไครแซนทีมิน (Chrysanthemin), สารอะดีนีน (Adenine), สตาไคดวีน (Stachydrine), โคลีน (Choline) กรดอะมิโน และน้ำมันหอมระเหยที่ช่วยรักษาและป้องกันโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ ช่วยขยายหลอดเลือด ลดการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว !

ประโยชน์ของเก๊กฮวย

  1. น้ำเก๊กฮวยใช้ดื่มแก้กระหาย เพิ่มความสดชื่น

  2. ช่วยกำจัดสารพิษออกจากร่างกาย

  3. ช่วยขับเหงื่อ

  4. จากงานวิจัยพบว่าสารสกัดจากดอกเก๊กฮวยมีคุณสมบัติช่วยยับยั้งเชื้อไวรัสเอดส์ได้

  5. ช่วยดูดซับสารก่อมะเร็งและจุลินทรีย์ชนิดต่าง ๆ

  6. ช่วยขยายหลอดเลือดแดงใหญ่ที่ไปเลี้ยงหัวใจ ช่วยป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดต่าง ๆ

  7. ช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจ ภาวะหัวใจล้มเหลว

  8. ช่วยป้องกันการเกิดโรคความดันโลหิตสูง

  9. ช่วยป้องกันการเกิดโรคเส้นเลือดตีบ

  10. ช่วยบำรุงโลหิต

  11. ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต

  12. ช่วยบำรุงและรักษาสายตา (เก๊กฮวยดอกเหลือง)

  13. ช่วยแก้อาการตาบวมแดง ปวดตา มองเห็นไม่ชัด ตาเบลอ ตามัว

  14. แก้อาการตาอักเสบ ด้วยการใช้ดอกสดตำแล้วนำมาประคบภายนอกดวงตา

  15. ช่วยแก้อาการปวดศีรษะเนื่องจากการกำเริบของหยางในตับ

  16. ช่วยบรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืด ตาลาย (เก๊กฮวยดอกเหลือง)

  17. ช่วยแก้ไข้ (เก๊กฮวยดอกเหลือง)

  18. ช่วยแก้อาการหวัด

  19. เก๊กฮวยดอกขาวหากใช้ร่วมกับ สะระแหน่ ใบไผ่ขม จะช่วยแก้อาการไอได้

  20. เก๊กฮวยแก้ร้อนใน มีฤทธิ์เป็นยาเย็น ช่วยดับพิษร้อน

  21. ช่วยระบายและย่อยอาหาร

  22. ช่วยขับลม

  23. เก๊กฮวยดอกขาวหากใช้ร่วมกับ สะระแหน่ ใบไผ่ขม จะช่วยบำรุงปอด

  24. ช่วยบำรุงตับ ไต (เก๊กฮวยดอกเหลือง)

  25. ใช้รักษาฝีเป็นหนอง บวม และเป็นพิษ ด้วยการใช้ดอกสดนำมาบดผสมน้ำแล้วดื่ม และนำกากที่เหลือมาพอกบริเวณที่เป็น

  26. ช่วยรักษาผมร่วง ทำให้ผมไม่เปลี่ยนเป็นสีเทา

วิธีทำน้ำเก๊กฮวย

  • สูตรการทำน้ำเก๊กฮวย อย่างแรกให้เตรียมดอกเก๊กฮวยที่ล้างให้สะอาด นำไปผึ่งไว้ก่อนบนตะแกรง พักไว้ให้สะเด็ดน้ำ หรือจะใช้แบบสำเร็จรูปเลยก็ได้

  • ใช้หม้อสแตนเลสใส่น้ำประมาณ 3 ลิตร ตั้งบนไฟแรง

  • ขณะรอน้ำเดือดให้ล้างใบเตยหอมประมาณ 5 ใบที่ล้างสะอาดแล้ว นำมาตัดเป็นท่อนสั้น ๆ (ประมาณ 3 ท่อน)

  • เมื่อน้ำเดือดให้ใส่ใบเตยลงไปแล้วปิดฝาหม้อทิ้งไว้ประมาณ 3-5 นาที (ตรงนี้จะช่วยทำให้น้ำเก๊กฮวยหอมขึ้น)

  • เมื่อน้ำใบเตยเดือด ถ้าต้องการให้น้ำเก๊กฮวยมีสีเหลืองน่ารับประทานก็ทุบเมล็ดพุดจีน (มีขายตามเยาวราช) ห่อใส่ผ้าขาวบางลงไปชงจนได้สีตามต้องการ ซึ่งตอนนี้ให้เปิดฝาหม้อทิ้งไว้ (ไม่ควรปิดฝาหม้อเพราะเมล็ดพุดจะมีกลิ่น)

  • ให้ตักใบเตยทิ้งไปและเอาห่อเมล็ดพุดออกจากหม้อ

  • ใส่น้ำตาลทราย (ไม่ฟอกสี) ประมาณ 200 กรัมลงในหม้อ แล้วคนน้ำตาลให้ละลาย เมื่อได้ความหวานที่ต้องการแล้วให้ปิดไฟหม้อ

  • ใส่ดอกเก๊กฮวยที่เตรียมไว้ประมาณ 30 กรัมใส่ลงไปในหม้อ แล้วใช้ทัพพีคนเบา ๆ ประมาณ 1 รอบเพื่อให้ดอกเก๊กฮวยกระจายทั่วหม้อ แล้วรีบปิดฝา

  • ตั้งไว้จนเย็นแล้วกรองเอากากของดอกเก๊กฮวยออก ก็จะได้น้ำเก๊กฮวยที่มีสีน่ารับประทาน

  • เสร็จแล้ววิธีการทำน้ำเก๊กฮวย จากนั้นก็นำมากรอกใส่ขวด แช่เย็นไว้ดื่ม

คำแนะนำ

  • สูตรต้มน้ำเก๊กฮวย ถ้าจะไปหาซื้อดอกเก๊กฮวยสำเร็จมีคนแนะนำมาว่าต้อง เก๊กฮวยตราเสือเท่านั้น 500 กรัมราคาประมาณ 180 บาท (ผมไม่ได้ค่าโฆษณานะ)

  • เมล็ดพุด 1-2 เมล็ดจะให้น้ำสีเหลืองกำลังดี ถ้า 3 เมล็ดจะออกสีเหลืองมาก

  • วิธีทำน้ำเก๊กฮวยแบบถูกวิธีห้ามเคี่ยวดอกเก๊กฮวยเพราะจะทำให้น้ำมีรสขมได้

  • การกรองดอกเก๊กฮวยออกห้ามบี้เด็ดขาดเพราะจะทำให้น้ำมีรสขมได้

  • ถ้าต้มน้ำดอกเก๊กฮวยแล้วเปรี้ยว สาเหตุอาจมาจากการใส่ดอกเก๊กฮวยมากเกินไป หรือการใช้เวลาต้มนานจนเกินไป

  • การชงเก๊กฮวยแบบชงชาจะให้รสชาติที่ดีกว่าการนำมาต้มในน้ำเดือด ๆ นาน ๆ

  • ผู้ที่มีปัญหาเรื่องระบบขับถ่าย มีอาการท้องเสียง่าย ควรดื่มในปริมาณที่พอเหมาะ

  • สำหรับผู้ที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร การดื่มชาเก็กฮวยอาจทำให้เกิดกรดในกระเพาะเพิ่มมากขึ้น

เก๊กฮวย

แหล่งอ้างอิง : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, เดลินิวส์ออนไลน์, รศ.ดร.ภญ.พาณี ศิริสะอาด (หนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ ฉบับวันพุธที่ 2 มกราคม 2556)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)