โหระพา

โหระพา ชื่อสามัญ Sweet basil, Thai basil

โหระพา ชื่อวิทยาศาสตร์ Ocimum basilicum L. จัดอยู่ในวงศ์กะเพรา (LAMIACEAE หรือ LABIATAE)

มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียและแอฟริกา เป็นพืชพื้นเมืองของอินเดีย แต่แพร่หลายในเอเชียและตะวันตก โหระพาเป็นพืชสมุนไพรที่มีกลิ่นหอม นิยมอย่างมากในการนำมาประกอบอาหารและแต่งกลิ่นของรสชาติให้น่ารับประทานยิ่งขึ้น

ลักษณะ

โหระพา สรรพคุณนั้นมีมากมายแต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่ามันมีประโยชน์อย่างไร โดยโหระพา 1 ขีด มีเบต้าแคโรทีนสูงถึง 452.16 ไมโครกรัม ซึ่งสามารถช่วยป้องกันโรคหัวใจ และยังมีวิตามินและแร่ธาตุอื่น ๆ ด้วย เช่น วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินซี ธาตุแคลเซียม ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก รวมไปถึงคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน เป็นต้น โดยสรรพคุณของโหระพาที่เรานำมาใช้ในการรักษาโรคหลัก ๆ แล้วจะใช้แค่ใบและน้ำมันสกัดจากใบโหระพาเป็นหลัก แต่ส่วนอื่น ๆ ก็ใช้ได้เหมือนกันไม่ว่าจะเป็น ราก ลำต้น ก็ถือว่ามีประโยชน์แทบทั้งสิ้น แต่น้ำมันโหระพาอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้หากใช้กับหญิงตั้งครรภ์ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยง

สรรพคุณของโหระพา

  1. ใบสดโหระพาใช้เป็นน้ำมันหอมระเหย

  2. ช่วยป้องกันความเสียหายในร่างกายของเราจากการทำลายของอนุมูลอิสระ

  3. ช่วยกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย

  4. มีส่วนในการช่วยป้องกันโรคหัวใจขาดเลือด

  5. มีฤทธิ์ในการช่วยลดคอเลสเตอรอลและแผ่นคราบพลัคในกระแสเลือด

  6. มีส่วนช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง

  7. ช่วยขับหัวสิวและต้านการเจริญเติบโตของเชื้อสิว

  8. ช่วยในการเจริญอาหาร

  9. ใช้เป็นยาพอกเพื่อดูดซับสารพิษออกจากผิวหนังได้

  10. ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำนมสำหรับมารดาที่ให้นมบุตร ด้วยการนำใบมาต้มกับน้ำนมราชสีห์รับประทาน

  11. มีความเชื่อว่าเป็นยาบำรุงสุขภาพทางเพศได้อีกด้วย

  12. ช่วยรักษาอาการปวดศีรษะด้วยการใช้ยอดอ่อนต้มกับน้ำ แล้วนำมาดื่มเป็นชา หรือกินเป็นผักสด

  13. แก้อาการวิงเวียนศีรษะด้วยการนำใบมาต้มดื่ม

  14. น้ำมันโหระพามีคุณสมบัติช่วยให้จิตใจสงบ มีสมาธิ และช่วยลดอาการซึมเศร้า

  15. ช่วยรักษาโรคตาแดง ต้อตา มีขี้ตามาก

  16. ช่วยแก้หวัดและช่วยในการขับเหงื่อ ด้วยการนำใบและต้นสดมาต้มเข้าด้วยกันแล้วเอาน้ำมาดื่ม

  17. ช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน ด้วยการนำใบโหระพามาคั้นเอาน้ำสดให้ได้ประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ ผสมกับน้ำอ้อย 2 ช้อนผสมกับน้ำอุ่น แล้วนำมาดื่มวันละ 2 ครั้ง

  18. ใช้รักษาอาการเหงือกอักเสบเป็นหนอง ด้วยการนำใบโหระพาแห้งมาบดให้เป็นผงแล้วนำมาทาในบริเวณที่อักเสบ

  19. ใช้แก้อาการสะอึก ด้วยการนำใบโหระพาสดพร้อมขิงสดแช่ในน้ำเดือดแล้วนำมาดื่มในขณะที่ยังร้อน

  20. ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ด้วยการนำเมล็ดแก่มาแช่น้ำให้พองเต็มที่ แล้วนำมารับประทานกับขนมหวานโดยผสมกับน้ำหวานและน้ำแข็ง

  21. ใช้เป็นยาระบาย ด้วยการนำเมล็ดแห้งประมาณ 3-5 กรัมมาต้มน้ำดื่ม

  22. ช่วยในการรักษาแผลในกระเพาะอาหาร เพราะไปช่วยยับยั้งฤทธิ์ของยาแอสไพรินซึ่งเป็นตัวที่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร

  23. ช่วยในการขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ

  24. เมล็ดโหระพาเมื่อแช่น้ำจะพองตัวเป็นเมือก นำมากินแก้อาการบิด

  25. น้ำมันโหระพามีคุณสมบัติแก้อาการจุกเสียดแน่นท้อง

  26. น้ำมันหอมระเหยของใบจะช่วยในการย่อยอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์ได้เป็นอย่างดี

  27. ถ้าเด็กปวดท้อง ให้ใช้ใบโหระพา 20 ใบชงน้ำร้อนแล้วนำมาชงนมให้เด็กดื่มแทนยาขับลม

  28. ใช้แก้อาการประจำเดือนมาไม่ปกติ

  29. นำมาใช้เป็นยาบรรเทาอาการผึ้งต่อย

  30. ช่วยรักษาอาการผดผื่นคัน มีน้ำเหลือง ด้วยการนำมาใบตำแล้วพอก

  31. ช่วยแก้เด็กเป็นแผล หรือมีหนองเรื้อรัง ด้วยการใช้รากของโหระพามาเผาเป็นเถ้าแล้วนำมาพอกบริเวณบาดแผล

  32. ช่วยแก้อาการฟกช้ำจากการกระทบกระแทก หกล้ม งูกัด ด้วยการนำมาใบตำแล้วพอก

  33. เมล็ดเมื่อนำมาแช่น้ำจะพองเป็นเมือก นำมาใช้เป็นยาระบาย เพราะไปช่วยเพิ่มจำนวนกากอาหาร

  34. น้ำมันโหระพาช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และเชื้อไวรัส

  35. น้ำมันโหระพาช่วยคลายการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ

  36. ช่วยรักษาอาการข้ออักเสบ แผลอักเสบด้วยการนำมาตำแล้วพอกหรือประคบ

  37. น้ำมันโหระพาสามารถใช้ฆ่ายุง ไร และแมลงได้ ด้วยการนำต้น ใบ ราก มาตำรวมกันให้ละเอียดแล้วใส่เหล้าขาวเล็กน้อยคนให้เข้ากัน แล้วนำไปตั้งไฟแค่พอร้อน ทิ้งไว้ให้อุ่นแล้วนำมาพอกที่เข่าทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที วันละ 2 ครั้ง อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น

  38. ช่วยในการบำบัดรักษาโรคเข่าเสื่อม

  39. มีฤทธิ์ในการต่อต้านการอักเสบ

  40. ใบโหระพามีกลิ่นเฉพาะใช้เป็นผักสด นำมาใช้เป็นอาหาร แต่งกลิ่นอาหาร และใช้เป็นเครื่องปรุงรสในอาหาร

  41. น้ำมันโหระพาก็นำมาใช้ในการแต่งกลิ่นซอสมะเขือเทศ ผักดอง ลูกอม ไส้กรอก ขนมผิง หรือแม้กระทั่งเครื่องดื่ม

  42. นำมาใช้ในการแต่งกลิ่นเครื่องสำอางบางชนิด

  43. นำมาแปรรูปเป็นสมุนไพรไทยในรูปของโหระพาแห้ง และนำมาทำเป็นน้ำมันโหระพาช่วยลดความเครียด ลดบวม

การเตรียมดิน

  1. ไถกลบดิน 2 รอบ แต่ละรอบตากดินนาน 5-7 วัน

  2. ไถยกร่องแปลง ขนาดกว้าง 1.5-2 เมตร ความยาวตามความเหมาะสม

  3. ก่อนไถยกร่อง ให้หว่านด้วยปุ๋ยคอกอัตรา 2-3 ตัน/ไร่ ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 30 กิโลกรัม/ไร่

  4. สำหรับแปลงเพาะกล้าโหระพา ให้ไถพรวนดิน และยกร่องในขนาดเดียวกัน และหว่านปุ๋ยคอก และปุ๋ยเคมีในสัดส่วนที่ลดลงมา

การเตรียมกล้า

  1. ทำการหว่านเมล็ดลงในแปลง ให้เมล็ดมีการกระจายตัวประมาณ 3-5 ซม.

  2. หลังหว่านให้ใช้คราดเกลี่ยหน้าดินบางๆ แล้วคลุมด้วยฟางข้าวบางๆ

  3. ให้รดน้ำหลังหว่านเมล็ด และรดน้ำทุกวัน วันละ 1-2 ครั้ง

  4. เมล็ดจะเริ่มงอกภายใน 5-7 วัน หลังหว่านเมล็ด

  5. ดูแลกล้าโหระพาจนมีความสูงได้ประมาณ 10-15 ซม. หรืออายุประมาณ 20-25 วัน ค่อยถอนกล้าย้ายปลูกลงแปลง

  6. ก่อนถอนปลูก ให้รดน้ำก่อน 1 วัน

ขั้นตอนการปลูกโหระพา

  1. ระยะปลูก 20-30 x20-30 ซม.

  2. ขุดหลุมด้วยเสียมลึกประมาณ 5 ซม. หรือ ลึกให้กลบโคนต้นขึ้นมา 2-3 ซม.

  3. หลังปลูกเสร็จ รดน้ำให้หน้าดินชุ่ม

สำหรับการปลูกโหระพาเพื่อรับประทานเองในครัวเรือนที่ปลูกเพียงไม่กี่ต้น เกษตรกรนิยมปลูกด้วยการหว่านเมล็ดในพื้นที่ว่างภายในบ้าน ด้วยการขุดพรวนดิน และกำจัดวัชพืช หลังจากนั้น จะหว่านเมล็ดจำนวนน้อยลงแปลง แล้วรดน้ำให้ชุ่ม

หากเมล็ดเกิดถี่ เกษตรจะย้ายถอนกล้าไปปลูกตามที่ว่างจุดอื่น และคงเหลือต้นให้มีระยะห่าง 20-30 ซม. ไว้ นอกจากนั้น ในบางครัวเรือนมักนำกล้าที่ถอนแยกได้นำมาปลูกในกระถาง กระถางละ 1-2 ต้น ซึ่งสามารถย้ายวางได้ในทุกจุด

การใส่ปุ๋ย

  • หลังปลูก 7-14 วัน หรือหลังที่กล้าตั้งต้นได้ โดยให้หว่านด้วยปุ๋ยเคมีสูตร 24-12-12 อัตรา 25 กิโลกรัม/ไร่ และหว่านอีกครั้งหลังครั้งแรก 2-3 เดือน ในอัตราเดียวกัน

  • ให้หว่านปุ๋ยคอกร่วมด้วยกับการใส่ปุ๋ยเคมีในครั้งแรก อัตราที่ 1-2 ตัน/ไร่

การให้น้ำ

  • ระยะหลังปลูก 7-15 วัน จะให้น้ำทุกวัน วันละ 1-2 ครั้ง

  • เมื่อกล้าตั้งต้นได้จะค่อยๆลดปริมาณน้ำลง โดยจะให้ 3-5 ครั้ง/สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับฤดู และความแห้งของหน้าดิน จนถึงการเก็บเกี่ยว

การเก็บยอด และใบ

  • หลังจากปลูกลงแปลงแล้วประมาณ 1 เดือน ก็สามารถทยอยเก็บยอดได้

  • การเก็บยอดเพื่อจำหน่าย จะเก็บยอดจากกิ่งให้มีความยาวประมาณ 20-30 ซม.

  • การเก็บยอด ควรใช้มีดหรือกรรไกรตัด ไม่ควรใช้มือเด็ด เพราะกิ่ง และใบจะซ้ำง่าย หรือ บางครั้งอาจทำให้ต้นถอนขึ้นมาได้ แต่การเก็บเพื่อรับประทานเองไม่จำเป็นต้องใช้มีดหรือกรรไกร

  • ให้ทยอยเก็บจากกิ่งที่อยู่ด้านล่างก่อน และทยอยเก็บเป็นช่วงๆ

ข้อมูล

  • อายุ 1-2 ปี

  • แสง รำไร

  • ดิน ร่วน

  • ชุ่มน้ำ (1-2 ครั้ง)

  • ปลูก เมล็ด / ปักชำ

  • สูง 60-120 ซม.

  • เก็บเกี่ยว 50 วัน

แหล่งอ้างอิง : จากสำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)