พริกขี้หนู

พริกขี้หนู (Hot chilli) ถือเป็นพริกที่นิยมนำมารับประทานหรือนำมาใช้ประโยชน์มากในบรรดาพริกทั้งหลาย เนื่องด้วยเป็นพริกที่มีรสเผ็ดจัด สีแดงสดสวยงามเหมาะสำหรับการปรุงอาหารหรือนำมาแปรรูปเป็นพริกป่นสำหรับการประกอบอาหาร

พริกขี้หนู มีชื่อวิทยาศาสตร์ Capsicum frutescens Linn. อยู่ในวงศ์ Solanaceae มีถิ่นกำเนิดในอเมริกากลาง และอเมริกาใต้ เรียกชื่อในท้องถิ่นต่างกัน ได้แก่ พริก (กลาง, เหนือ) พริกขี้หนู (กลาง) หมักเพ็ด (อีสาน) พริกแด้ พริกแต้ พริกนำ (เหนือ) หมักเพ็ดครี (กระเหรี่ยงกำแพงเพชร) ดีปลี (ปัตตานี) ดีปลีขี้นก พริกขี้หนู (ใต้) ปะแกว (ชาวบน- นครราชสีมา) มะระตี้ (เขมร-สุรินทร์) มือซาซีซู มือส่าโพ (กระเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

  • ลำต้น ต้นพริกขี้หนูมีการเติบโตของกิ่งแบบ Dichotomous คือ กิ่งแตกออกจากลำต้นเพียงกิ่งเดียวและจะแตกเพิ่มเป็น 2 เท่า เรื่อยๆ เป็น 2 กิ่ง เป็น 4 กิ่ง และ 8 กิ่ง จนมีลักษณะเป็นทรงพุ่ม

  • ราก รากพริกขี้หนู ประกอบด้วยรากแก้ว และรากฝอยจำนวนมาก มีลักษณะการแผ่ออกด้านข้างเป็นรัศมีได้มากกว่า 1 เมตร และหยั่งลึกได้มากกว่า 1.20 เมตร บริเวณรอบๆโคนต้นจะมีรากฝอยสานกันหนาแน่น

  • ใบ ใบเป็นชนิดใบเดี่ยว มีลักษณะแบนเรียบ สีเขียวอ่อน และเขียวเข้มตามอายุของใบ ใบเป็นมัน มีขนปกคลุมเล็กน้อย รูปร่างของใบมีลักษณะรูปไข่จนถึงเรียวยาว ปลายใบแหลม ใบออกบริเวณกิ่งแบบตรงข้ามกัน และมีขนาดแตกต่างกันตามสายพันธุ์ แต่ทั่วไปใบพริกขี้หนูจะมีขนาดเล็กในระยะต้นกล้า และมีขนาดใหญ่ เมื่อต้นโตเต็มที่

  • ดอก พริกขี้หนูเป็นดอกชนิดเดี่ยว ขนาดเล็ก แตกออกบริเวณข้อตรงที่มุมด้านบนของก้านใบหรือกิ่ง อาจมีดอกเดียวหรือหลายดอกในจุดเดียวกัน ก้านดอกตรงหรือโค้ง ดอกมีกลีบรอง มีลักษณะเป็นพู สีขาวหรือสีม่วงประมาณ 5 กลีบ เกสรตัวผู้มีประมาณ 1-10 อัน แตกออกจากโคนขที่กลีบดอก อับเกสรตัวผู้มักมีสีน้ำเงิน เป็นกระเปราะขนาดเล็ก และยาว ส่วนเกสรตัวเมียมี 1- 2 รังไข่ มีลักษณะชูขึ้นเหนือเกสรตัวผู้ รูปร่างเหมือนกระบองหัวมน รังไข่มี 3 – 4 พู มักจะออกดอก และติดผลในช่วงวันสั้น

  • ผล ผลพริก เป็นผลประเภท Berry มีลักษณะเป็นกระเปาะ มีฐานที่ชั้นผลสั้น และหนา ผลอ่อนมักชี้ขึ้น แต่เมื่อแก่ผลจะห้อยลง ผลมีลักษณะแบน กลมยาว จนถึงพองอ้วนสั้น ผลมีขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ ผนังผล ( Pericarp ) อาจบางหรือหนา มีความเผ็ดแตกต่างกันตามพันธุ์ ผลเมื่ออ่อนสีเขียวเข้ม บางพันธุ์อาจมีสีขาวออกเหลืองเขียว เมื่อผลแก่จะเปลี่ยนเป็นแดงหรือเหลือง ขนาดผลทั่วไปประมาณ 1- 1.5 นิ้ว มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1/4 -2/3 นิ้ว เมล็ดด้านในจะเกิดรวมกันที่รก (Placenta) ตลอดจากโคนจนถึงปลายผล ในช่วงที่ผลพัฒนา หากอุณหภูมิในช่วงกลางวันสูง ความชื้นต่ำ จะทำให้ผลมีรูปร่างบิดเบี้ยว ผลมีขนาดเล็ก การติดเมล็ดต่ำ

  • เมล็ด เมล็ดพริกขี้หนูจะเกิดรวมกันที่รก (Placenta) ตลอดแนวยาวจากโคนถึงปลายผล เมล็ดมีรูปร่างคล้ายเมล็ดมะเขือเทศ คือ มีรูปกลม แบน สีเหลืองจนถึงสีน้ำตาล ผิวเมล็ดไม่ค่อยมีขนเหมือนผลในมะเขือเทศ แต่มีขนาดใหญ่กว่า

ประโยชน์พริกขี้หนู

1. ทางด้านอาหาร

  • ยอดอ่อนของพริกใช้ทำเป็นผักลวกจิ้ม กินกับน้ำพริกหรือรับประทานเป็นผักลวก หรือนำไปประกอบอาหารประเภทแกงจืด แกงเลียง แกงอ่อม เป็นต้น ซึ่งจะให้รสหวาน และเผ็ดเล็กน้อย กรอบ นุ่ม

  • ผล มักใช้เป็นผัก หรือเครื่องเทศสำหรับปรุงรสในการประกอบอาหารได้หลากหลายชนิด รวมทั้งใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องแกงหรือพริกแกง อาหารที่ใช้พริกเป็นส่วนประกอบหรือปรุงรส ได้แก่ อาหารประเภทแกง อาหารประเภททอด อาหารประเภทต้ม อาหารประเภทยำ รวมถึงอาหารประเภทปิ้งย่างที่ต้องการรสเผ็ด ดังนั้น พริกจึงเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง และมีประโยชน์ต่อร่างกาย เพราะสามารถให้พลังงาน และแร่ธาตุ เช่น โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน เหล็ก แคลเซียม วิตามินเอ วิตามินซี และวิตามินอี โดยเฉพาะวิตามินซี ที่พบมากกว่าผักชนิดอื่นๆ

คุณค่าทางโภชนาการ (100 กรัม ที่บริโภคได้)

  • พลังงาน 347 กิโลแคลอรี่

  • โปรตีน 15.8 กรัม

  • ไขมัน 9.1 กรัม

  • คาร์โบไฮเดรต 50.5 กรัม

  • เส้นใย 22.7 กรัม

  • แคลเซียม 32 มิลลิกรัม

  • ฟอสฟอรัส 360 มิลลิกรัม

  • เหล็ก 15.8 มิลลิกรัม

  • วิตามินเอ 4287 ไมโครกรัม

  • ไทอามีน 0.16 มิลลิกรัม)

  • ไรโบฟลาวิน 0.74 มิลลิกรัม

  • ไนอาซิน 11.2 มิลลิกรัม

  • วิตามินซี 0 มิลลิกรัม

  • เถ้า 3.8 กรัม

2. ประโยชน์ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช

  • สารแคบไซซินที่พบในพริกขี้หนู นิยมสกัดใช้เป็นยาฆ่าแมลง และสารขับไล่แมลงหรือสัตว์ โดยสารดังกล่าวมีความเป็นพิษที่มีผลต่อการทำงานของเอนไซม์เอสเทอเรส และกลูตาไทโอน-เอส-ทรานเฟอเรส ของสัตว์จำพวกหนอน และแมลงเกือบทุกชนิด

  • ผลสุกมีคุณสมบัติสามารถฆ่าแมลงได้ รวมถึงฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรีย และไวรัส ส่วนเมล็ดมีสารฆ่าเชื้อรา ใบ และดอกมีสารยับยั้งการเติบโตของไวรัส พริกจึงใช้เป็นสารฆ่าแมลง ขับไล่แมลงศัตรูพืชหลายชนิด

สรรพคุณพริกขี้หนู

สารสกัดจากพริกถูกนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของยาหลายชนิด เช่น ยาแก้ปวดท้อง ยาธาตุ ยาขับลม ยาแก้ปวดฟัน และยารักษาโรคไขข้อ รวมถึงนำไปใช้เป็นส่วนประกอบของยาชนิดรับประทาน และยาทาภายนอกหลายชนิด โดยมีสรรพคุณทางยา ดังนี้

  1. ผล ให้รสเผ็ดร้อน ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต ช่วยเจริญอาหาร ช่วยการย่อยอาหาร ขับลม ขับเสมหะ (Mucokinetic) ขับเหงื่อ แก้อาการปวดท้อง อาเจียน ท้องเสีย แผลจากความเย็นจัด ลดไข้ อาหารเป็นหวัด รักษาโรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน ชันนะตุ และหิด ใช้ต้านเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย และไวรัส

  2. ใบ มีรสเย็น แต่เผ็ดเล็กน้อย มีกลิ่นฉุนใบพริก ใช้แก้หวัด ลดไข้ เลือดกำเดา และอาการปวดศีรษะ ใบสดใช้ตำผสมดินสอพองทาขมับ ช่วยลดอาการปวดศีรษะ

  3. ราก นำมาต้ม ลดอาการแขนขาอ่อนแรง ร่างกายไม่มีกำลัง รักษาอาการทางไต และอัณฑะบวม เลือดออกในมดลูก รักษาโรคซางใน ใช้ฝนกับนํ้ามะนาว และเกลือ สำหรับแก้ไอ แก้เสมหะ

  4. ทั้งต้น นำมาต้ม ช่วยแก้อาการเหน็บชา เลือดคั่ง อาหารปวดตามข้อ และรักษาแผลที่เกิดจากความเย็น

การปลูกพริกขี้หนู

การปลูกพริกขี้หนูของเกษตรกรแบ่งตามการให้น้ำ มี 2 แบบ คือ

  1. การปลูกแบบพริกไร่ เป็นการปลูกพริกขี้หนูที่อาศัยน้ำฝนในช่วงฤดูฝนสำหรับการเจริญเติบโต การปลูกในลักษณะนี้จะควบคุมผลผลิตได้จาก อัตราการตายสูง แต่แก้ไขโดยการปลูกหลังจากฝนตกแล้วจนดินชุ่ม 1-2 ครั้ง

  2. การปลูกแบบพริกสวน เป็นการปลูกโดยการอาศัยน้ำในเขตชลประทานหรือพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำ อย่างเพียงพอ เช่น บอเก็บน้ำ บ่อน้ำบาดาล เป็นต้น การปลูกในลักษณะนี้ สามารถปลูกได้ตลอดปี และสามารถควบคุมผลผลิตได้ดีกว่าการปลูกในวิธีแรก อัตราการรอด และผลผลิตสูง

พื้นที่ปลูก

พริกเป็นพืชเขตร้อนหรือกึ่งเขตร้อน สามารถทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี ไม่ชอบดินชื้นแฉะ มีน้ำขัง พื้นที่ปลูกพริกควรเป็นที่โล่งแจ้ง ได้รับแสงทั้งวัน ไม่ควรเป็นที่ลุ่มหรือดอน ๆ เพราะที่ลุ่มมักประสบปัญหาน้ำท่วมขัง การระบายน้ำยาก ทำให้เสี่ยงเป็นโรคเหี่ยวเฉาได้ง่าย ส่วนพื้นที่สูงหรือเป็นที่ดอนมักจะมีปัญหาในเรื่องดินแห้ง และขาดน้ำได้ง่าย ต้องให้น้ำบ่อย การใช้น้ำสิ้นเปลืองไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้ต้นพริกแคระแกร็น ดอกร่วงไม่ติดผล

การปลูกพริกไม่ควรปลูกติดต่อกันมาหลายปี เพราะอาจทำให้มีการสะสมของโรค และแมลงได้ ควรสลับการปลูกพืชอื่นในแปลงเดียวกัน ประมาณ 2-3 ปี แต่หากจำเป็นต้องปลูกซ้ำ ควรเตรียมดินด้วยการไถพรวน และตากดินทุกครั้ง ประมาณ 7-14 วัน

พริกขี้หนูสามารถเติบโตได้ดีในดินทุกชนิด ทั้งดินเค็ม และดินเปรี้ยว แต่เติบโตได้ดีในดินร่วนปนทราย มีอินทรียวัตถุสูง การระบายน้ำดี ค่าความเป็นกรด-เบส (pH) ประมาณ 6.0 – 6.8

การเตรียมดิน

แปลงปลูกพริกขี้หนูควรเตรียมดินด้วยการไถพรวนด้วยผาน 7 ลึกประมาณ 30 เซนติเมตร พร้อมกำจัดวัชพืช และตากดินนาน 7-14 วัน หลังจากนั้น ไถด้วยผาน 3 เพื่อให้ดินแตกมีความร่วนซุย หากเป็นพื้นที่ที่เป็นกรดให้ว่านด้วยปูนขาวปรับสภาพดินก่อนไถทุกครั้ง หลังการไถให้ตากดินประมาณ 3-5 วัน ก่อนปลูก ทั้งนี้ ก่อนการไถด้วยผาน 3 อาจหว่านโรยด้วยปุ๋ยคอกก่อนหรือใช้ปุ๋ยเคมีรองพื้น อัตราปุ๋ยคอกที่ 50 ตัน/ไร่ ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ที่ 30 ตัน/ไร่ แต่วิธีนี้ทำให้สิ้นเปลืองปุ๋ย ซึ่งอาจใส่ปุ๋ยในขั้นตอนปลูกสำหรับรองก้นหลุมก่อนปลูกก็ได้

การเตรียมกล้า

การปลูกพริกจำเป็นต้องเตรียมกล้าพริกก่อนทุกครั้ง ด้วยการเพาะเมล็ดในกะบะเพาะเมล็ดหรือถุงเพาะชำ ที่ 1 ต้น/หลุมหรือถุง สำหรับวัสดุเพาะให้เตรียมด้วยการการผสมดินร่วนกับปุ๋ยคอกหรือวัสดุหรือใช้ทางการเกษตร เช่น แกลบ ขี้เถ้า ขี้เลื่อย ขุยมะพร้าว เป็นต้น ในอัตราส่วนดินต่อวัสดุผสม 2:1 หรือ 1:1 ทำการรดน้ำให้ชุ่มหลังการหยอดเมล็ด และรดน้ำทุกวัน วันละ 1-2 ครั้ง ช่วงเช้าหรือเย็น จนพริกแตกใบแท้ประมาณ 3-5 ใบ หรือต้นสูงประมาณ 15-20 เซนติเมตร จึงนำมาปลูกในแปลง

วิธีการปลูก

การปลูกจะปลูกในระยะที่เหมาะสม ที่ระยะห่างต้น 50 เซนติเมตร ระยะระหว่างแถว 100 เซนติเมตร ด้วยการขุดหลุมปลูก และให้โรยด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ก่อนปลูก หากตอนเตรียมแปลงไม่ได้หว่านปุ๋ย

การให้น้ำ

พริกขี้หนูเป็นพืชที่ไม่ต้องการน้ำมาก แต่ต้องการน้ำอย่างเพียงพอ และสม่ำเสมอ

จึงควรให้น้ำเพียงเพื่อให้ดินชุ่มประมาณ 1-2 ครั้ง/วัน เท่านั้น ก็เพียงพอ แต่ควรเพิ่มปริมาณในช่วงที่พริกขี้หนูติดดอก และผล

การใส่ปุ๋ย

การใส่ปุ๋ยครั้งแรกอาจเริ่มในระยะก่อนปลูกด้วยการรองก้นหลุม หรือ ใส่เมื่อต้นกล้าตั้งต้นได้หลังการปลูกแล้วประมาณ 1 เดือน ด้วยปุ๋ยสูตร 15-15-15 และให้อีกครั้งเมื่อถึงระยะก่อนออกดอกประมาณ 15-30 วัน หรือเมื่อต้นแตกกิ่ง และทรงพุ่มเต็มที่แล้ว ด้วยปุ๋ยสูตร 12-12-24 ในอัตราของทั้งสองระยะที่ 30 กก./ไร่ ทั้งนี้ ควรให้ร่วมกับปุ๋ยคอกด้วย เพื่อป้อกงันการเสื่อมของดิน

ส่วนโรคที่มักพบได้แก่ โรคกุ้งแห้ง โรคเหี่ยวจากเชื้อรา โรคเน่า โรคเหี่ยวจากแบคทีเรีย

การเก็บเกี่ยว

การเก็บผลผลิตพริกขี้หนู จะมีอายุจากวันงอกจนถึงเก็บเกี่ยวผลพริกสดครั้งแรก ประมาณ 65-90 วัน ผลผลิตในระยะแรกจะน้อย และจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และลดลงในระยะสุดท้าย การเก็บควรเก็บทุกๆ 7 วัน ด้วยการเด็ดทีละผลโดยใช้เล็บจิกตรงก้านผลที่ต่อกับกิ่ง ไม่ควรใช้มือดึงที่ผล เพราะจะทำให้กิ่งหักได้

พริกขี้หนูตำ
กล้าพริกขี้หนู

ข้อมูลเบื้องต้น

  • อายุ 90 วัน

  • แสง เต็มวัน

  • ดิน ร่วนปนทราย

  • น้ำ ชุ่มชื้น (1-2 ครั้ง)

  • วิธีปลูก เพาะเมล็ด

  • สูง 0.5 - 2.5 เมตร

ที่มา https://www.nfc.or.th/content/7431