อัญชัน

อัญชัน ชื่อสามัญ Butterfly pea, Blue pea

อัญชัน ชื่อวิทยาศาสตร์ Clitoria ternatea L. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)

สมุนไพรอัญชัน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า แดงชัน (เชียงใหม่), เอื้องชัน (ภาคเหนือ) เป็นต้น

ลักษณะ

อัญชัน เป็นพืชที่มีต้นกำเนิดในแถบอเมริกาใต้ ปลูกทั่วไปในเขตร้อน ลักษณะของดอกอัญชันจะมีสีขาว สีฟ้า สีม่วง ส่วนตรงกลางดอกจะมีสีเหลือง และรูปทรงคล้ายหอยเชลล์ มีสรรพคุณที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะมีสารที่ชื่อว่า "แอนโทไซยานิน" (Anthocyanin) ซึ่งมีหน้าที่ไปช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต ทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ได้ดีมากขึ้น เช่น ไปเลี้ยงบริเวณรากผม ซึ่งช่วยทำให้ผมดกดำ เงางาม หรือไปเลี้ยงบริเวณดวงตาจึงช่วยบำรุงสายตาไปด้วยในตัว หรือไปเลี้ยงบริเวณปลายนิ้วมือ ซึ่งก็จะช่วยแก้อาการเหน็บชาได้ด้วย และที่สำคัญสารนี้ยังมีความโดดเด่นที่ใครหลาย ๆ คนยังไม่ทราบ นั่นก็คือช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดเส้นเลือดอุดตันได้ และการ "กินดอกอัญชันทุกวัน...วันละหนึ่งดอก" จะช่วยป้องกันโรคเส้นเลือดสมองตีบได้อีกด้วย

เนื่องจากดอกอัญชันนั้นมีฤทธิ์ในการละลายลิ่มเลือด สำหรับผู้มีเลือดจางห้ามรับประทานดอกอัญชันเด็ดขาด หรืออาหารเครื่องดื่มที่ย้อมสีด้วยอัญชันก็ไม่ควรรับประทานบ่อย ๆ

สรรพคุณของอัญชัน

  1. น้ำอัญชันมีส่วนช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย

  2. เครื่องดื่มน้ำอัญชันช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานให้ร่างกายและเพิ่มพลังงานให้ร่างกาย

  3. มีส่วนช่วยในการชะลอวัยและริ้วรอยแห่งวัย

  4. ชดอกชมีส่วนช่วยในการบำรุงสมอง เพิ่มการไหลเวียนเลือด

  5. ดอกอัญชันมีฤทธิ์ในการละลายลิ่มเลือด

  6. ช่วยป้องกันโรคเส้นเลือดสมองตีบ

  7. ช่วยรักษาอาการผมร่วง (ดอก)

  8. อัญชันทาคิ้ว ทาหัว ใช้เป็นยาปลูกผม ปลูกขนช่วยให้ดกดำเงางามยิ่งขึ้น (น้ำคั้นจากดอก)

  9. ช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดเส้นเลือดอุดตัน

  10. ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจอุดตัน

  11. ช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคมะเร็งด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ

  12. ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน

  13. อัญชันมีคุณสมบัติในการช่วยล้างสารพิษและของเสียออกจากร่างกาย

  14. ช่วยบำรุงสายตา แก้อาการตาฟาง ตาแฉะ (น้ำคั้นจากดอกสดและใบสด)

  15. ช่วยป้องกันโรคต้อกระจก ต้อหิน ตาเสื่อมจากโรคเบาหวาน (ดอก)

  16. ช่วยเพิ่มความสามารถในการมองเห็นให้ดียิ่งขึ้น

  17. นำรากไปถูกับน้ำฝน นำมาใช้หยอดตาและหู (ราก)

  18. นำมาถูฟันแก้อาการปวดฟันและทำให้ฟันแข็งแรง (ราก)

  19. ใช้เป็นยาระบาย แต่อาจทำให้คลื่นไส้อาเจียนได้ (เมล็ด)

  20. ใช้รากปรุงเป็นยาขับปัสสาวะ (ราก,ใบ)

  21. แก้อาการปัสสาวะพิการ

  22. ใช้แก้อาการฟกช้ำ (ดอก)

  23. ช่วยป้องกันและแก้อาการเหน็บชาตามนิ้วมือนิ้วเท้า

  24. นำมาทำเป็นเครื่องดื่มน้ำอัญชันเพื่อใช้ดับกระหาย

  25. ดอกอัญชันตากแห้งสามารถนำมาชงดื่มแทนน้ำชาได้เหมือนกัน

  26. ดอกอัญชันนำมารับประทานเป็นผัก เช่น นำมาจิ้มน้ำพริกสด ๆ หรือนำมาชุบแป้งทอดก็ได้

  27. น้ำดอกอัญชันนำมาใช้ทำเป็นสีผสมอาหารโดยให้สีม่วง เช่น ขนมดอกอัญชัน ข้าวดอกอัญชัน (ดอก)

  28. ช่วยปลูกผมทำให้ผมดกดำขึ้น (ดอก)

  29. ใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อย่าง ครีมนวดผม ยาสระผม เป็นต้น

  30. นิยมนำมาปลูกไว้ตามรั้วบ้านเพื่อความสวยงาม

วิธีทำน้ำดอกอัญชัน

  1. วัตถุดิบที่ต้องเตรียมมีดังนี้ น้ำดอกอัญชัน 1 ถ้วย / น้ำผึ้ง 2 ช้อนโต๊ะ / น้ำเชื่อม 4 ช้อนโต๊ะ

  2. ขั้นตอนแรกให้ทำน้ำดอกอัญชันก่อน ด้วยการนำดอกอัญชันสดประมาณ 100 กรัม นำมาล้างน้ำให้สะอาด แล้วใส่หม้อเติมน้ำเปล่า 2 ถ้วย นำไปต้มจนเดือด ปิดฝาทิ้งไว้ประมาณ 3 นาทีแล้วกรองดอกอัญชันขึ้นจากหม้อ

  3. ต่อมาก็ทำน้ำเชื่อม โดยใช้สัดส่วน น้ำเปล่า 500 กรัม / น้ำตาลทราย 500 กรัม

  4. เมื่อได้ส่วนผสมครบแล้วให้นำน้ำดอกอัญชัน น้ำเชื่อม น้ำผึ้ง ผสมรวมกันตามสัดส่วนที่ระบุไว้ในข้อแรก

  5. ชิมรสชาติตามชอบใจ เสร็จแล้วน้ำดอกอัญชัน

  6. ถ้าหากจะทำเป็นน้ำพันช์ให้ใช้ส่วนผสมดังนี้ น้ำดอกอัญชันครึ่งถ้วย / น้ำผึ้ง 4 ช้อนโต๊ะ / น้ำเชื่อม 6 ช้อนโต๊ะ / น้ำมะนาวครึ่งถ้วย / และน้ำโซดาเย็นประมาณ 1 ขวด แล้วนำมาผสมรวมกัน ชิมรสชาติจนเป็นที่พอใจแล้วใส่น้ำแข็งเกล็ดเพื่อความสดชื่นอีกที

  7. ถ้าต้องการทำเป็นน้ำชาไว้ดื่ม ก็ใช้ดอกอัญชันที่ตากแห้งแล้วประมาณ 25 ดอก นำมาชงในน้ำเดือด 1 ถ้วยแล้วนำมาดื่ม

  8. หรือจะใช้อีกสูตร ก็คือให้เตรียมดอกอัญชัน 3 ดอก / น้ำเปล่า 1 แก้ว / น้ำตาลทราย (ตามความต้องการ) / น้ำมะนาว (ตามความต้องการ)

  9. นำดอกมาเด็ดก้านเขียว ๆ ออกแล้วนำไปล้างให้สะอาด

  10. ต้มน้ำแล้วใส่ดอกอัญชันลงไป รอจนเดือดและน้ำเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเดียวกับดอก

  11. ใส่น้ำตาลลงไปตามใจชอบ

  12. เสร็จแล้วกรองเอากากออก แล้วทิ้งไว้ให้เย็น

  13. นำมาปรุงรสนิดหน่อยด้วยน้ำมะนาวตามความต้องการ (สีของน้ำจากสีฟ้าก็จะกลายเป็นสีม่วง)

  14. นำมาดื่มพร้อมใส่น้ำแข็ง

คำแนะนำ

  • ควรดื่มทันทีเมื่อทำเสร็จ เพื่อรักษาคุณค่าทางสารอาหารและยา

  • ไม่ควรดื่มน้ำสมุนไพรในอุณหภูมิที่ร้อนจัด หรือมีอุณหภูมิเกิน 60 องศาเซลเซียสขึ้นไป เพราะอาจจะทำให้เยื่อบุผิวหลอดอาหารเสียสภาพภูมิคุ้มกันได้ ทำให้ดูดซับสารก่อมะเร็งและสารอื่น ๆได้ง่าย

  • ไม่ควรดื่มน้ำสมุนไพรใด ๆ ชนิดเดียวติดต่อกันเป็นเวลานาน ซึ่งอาจจะเป็นผลเสียต่อร่างกายมากกว่าผลดี

แหล่งอ้างอิง : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)