หม่อน
หม่อน หรือ มัลเบอร์รี่ (Mulberry) ชื่อสามัญ Mulberry tree, White Mulberry
หม่อน ชื่อวิทยาศาสตร์ Morus alba Linn. จัดอยู่ในวงศ์ขนุน (MORACEAE)
สมุนไพรหม่อน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มอน (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน), ซึงเฮียะ ซึงเอียะ (จีนแต้จิ๋ว), ซางเย่ (จีนกลาง) เป็นต้น
หม่อนที่เรารู้จักกันจะมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด ได้แก่ หม่อนที่ปลูกเพื่อรับประทานผล (ชื่อสามัญ Black Mulberry, ชื่อวิทยาศาสตร์ Morus nigra L.) ชนิดนี้ผลจะโตเป็นช่อ เมื่อสุกผลจะเป็นสีดำ มีรสเปรี้ยวอมหวาน นิยมนำมารับประทาน ทำแยม หรือนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ส่วนอีกชนิดนั้นก็คือ หม่อนที่ใช้ปลูกเพื่อการเลี้ยงไหมเป็นหลัก (ชื่อสามัญ White Mulberry, ชื่อวิทยาศาสตร์ Morus alba L.) เป็นชนิดที่เรากำลังกล่าวถึงในบทความนี้ครับ ชนิดนี้จะมีใบใหญ่และออกใบมากใช้เป็นอาหารของไหมได้ดี ส่วนผลจะออกเป็นช่อเล็ก เมื่อสุกแล้วจะมีรสเปรี้ยว ใช้รับประทานได้ครับ แต่ไม่เป็นที่นิยมสักเท่าไหร่
ลักษณะของหม่อน
ต้นหม่อน เป็นพืชพื้นเมืองของประเทศจีนตอนใต้ แถบเทือกเขาหิมาลัย แต่ภายหลังได้มีกรนำเข้ามาปลูกในอินโดจีน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ไทย ฯลฯ โดยจัดเป็นไม้พุ่มขนาดกลางหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีลำต้นตั้งตรง สูงได้ประมาณ 2.5 เมตร บางพันธุ์สูงได้ประมาณ 3-7 เมตร แตกกิ่งก้านไม่มากนัก เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลแดง สีขาวปนสีน้ำตาล หรือสีเทาปนขาว ส่วนเปลือกรากเป็นสีน้ำตาลแดงหรือสีเหลือแดง มีเส้นร้อยแตกที่เปลือกผิว พบได้ทั่วไปในป่าดิบ ในประเทศไทยปลูกกันมากทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือครับ
ใบหม่อน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ หรือรูปไข่กว้าง ปลายใบแหลมยาว โคนใบเว้าเป็นรูปหัวใจหรือค่อนข้างตัด ขอบใบเรียบหรือหยักเว้าเป็นพู (ขึ้นอยู่กับสาพันธุ์ที่ปลูก) ใบอ่อนขอบใบจักเป็นพูสองข้างไม่เท่ากัน ขอบพูจักเป็นซี่ฟัน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 8-14 เซนติเมตร และยาวประมาณ 12-16 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้มเรียบเงา ท้องใบเป็นสีเขียวอ่อน ใบค่อนข้างหนา หลังใบสากระคายมือ เส้นใบมี 3 เส้น ออกจากโคนยาวไปถึงกลางใบ และเส้นใบออกจากเส้นกลางใบอีก 4 คู่ เส้นร่างแหเห็ดได้ชัดเจนจากด้านล่าง ก้านใบเรียวเล็ก ยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร มีหูใบเป็นรูปแถบแคบปลายแหลม ยาวได้ประมาณ 0.2-0.5 เซนติเมตร
ดอกหม่อน ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและปลายยอด ดอกเป็นแบบแยกเพศแต่อยู่บนต้นเดียวกัน ลักษณะของดอกเป็นรูปทรงกระบอก ช่อดอกเพศผู้และช่อดอกเพศเมียจะอยู่ต่างช่อกัน ดอกย่อยมีขนาดเล็ก วงกลีบรวมเป็นสีขาวหม่นหรือเป็นสีขาวแกมสีเขียว ช่อดอกเป็นหางกระรอก ยาวได้ประมาณ 2 เซนติเมตร ดอกเพศผู้ วงกลีบรวมมีแฉก 4 แฉก เกลี้ยง ส่วนดอกเพศเมีย วงกลีบรวมมีแฉก 4 แฉก เกลี้ยง ขอบมีขน เมื่อเป็นผลจะอวบน้ำ รังไข่เกลี้ยง ก้านเกสรเพศเมียมี 2 อัน
ผลหม่อน เป็นผลที่เกิดจากช่อดอก ผลเป็นผลรวมอยู่ในกระจุกเดียวกัน โดยจะออกตามซอกใบ ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกระบอก ยาวประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร ผลเป็นสีเขียว เมื่อผลสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงแดงเข้มหรือสีม่วงดำ เกือบดำ เนื้อนิ่ม ฉ่ำน้ำ และมีรสหวานอมเปรี้ยว
สรรพคุณของหม่อน
ใบหม่อนมีรสจืดเย็น ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาระงับประสาท (ใบ)[1],[4]
ใบใช้ทำชามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (ราก)[4]
กิ่งหม่อนมีสรรพคุณช่วยทำให้เลือดลมไหลเวียนได้สะดวกมากขึ้น (กิ่ง)[8]
ช่วยบำรุงหัวใจ (ผล)[8]
ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ (ใบ)[2]
ผลนำมาต้มกับน้ำหรือเชื่อมกินเป็นยาแก้ธาตุไม่ปกติ (ผล)[3],[4]
ผลหม่อนมีรสเปรี้ยวหวานเย็น มีสรรพคุณช่วยดับร้อน คายความร้อนรุ่ม ขับลมร้อน ทำให้ชุ่มคอ บรรเทาอาการกระหายน้ำ และทำให้ร่างกายชุ่มชื่น (ผล)[1],[2],[4],[8]
ใบใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้ ไข้หวัด ตัวร้อน แก้ร้อนในกระหายน้ำ และเป็นยาช่วยขับลมร้อน (ใบ)[1],[2],[3],[4]
ใบมีรสขม หวานเล็กน้อย เป็นยาเย็นออกฤทธิ์ต่อปอด ตับ และกระเพาะอาหาร ใช้เป็นยาแก้ไอร้อนเนื่องจากถูกลมร้อนกระทบ (ใบ)[2]
ใบมีสรรพคุณช่วยขับเหงื่อ (ใบ)
ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไอ (ใบ)[1]
เปลือกรากหม่อนมีรสชุ่ม เป็นยาเย็นออกฤทธิ์ต่อปอดและม้าม ใช้เป็นยาแก้ไอเป็นเลือด แก้ไอร้อนไอหอบ (เปลือกราก)[2]
เมล็ดมีสรรพคุณเป็นยาขับเสมหะ (เมล็ด)[3]
ใบนำมาทำเป็นยาต้ม ใช้อมหรือกลั้วคอแก้อาการเจ็บคอ คอแห้ง แก้ไอ และทำให้เนื้อเยื่อชุ่มชื้น หล่อลื่นภายนอก (ใบ)[2],[3],[4]
รากนำมาตากแห้งต้มผสมกับน้ำผึ้ง มีรสหวานเย็น ใช้มากในโรคทางเดินหายใจและการมีน้ำสะสมในร่างกายอย่างผิดปกติ (ราก)[4]
ยอดหม่อนนำมาต้มกับน้ำดื่มและล้างตาเป็นยาบำรุงตา (ยอด)[8] ส่วนผลมีสรรพคุณทำให้เส้นประสาทตาดี ทำให้สายตาแจ่มใส ร่างกายสุขสบาย (ผล)[8]
ใบนำมาต้มเอาน้ำใช้ล้างตา แก้ตาแดง ตามัว ตาแฉะ และตาฝ้าฟาง (ใบ)[1],[4]
ใบมีสรรพคุณช่วยทำให้เลือดเย็นและตาสว่าง (ใบ)[2], ส่วนผลมีสรรพคุณช่วยทำให้หูตาสว่าง (ผล)[2]
ใบแก่นำมาตากแห้งมวนสูบเหมือนบุหรี่ แก้ริดสีดวงจมูก (ใบแก่)[4]
ช่วยรักษาโรคเบาหวาน ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ด้วยการใช้เปลือกรากประมาณ 90-120 กรัม นำมาทุบให้แหลก แล้วนำมาต้มกับน้ำดื่มเช้าและเย็น หรือจะใช้ใบนำมาทำเป็นชาเขียวใช้ชงกับน้ำดื่มก็ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้เช่นกัน นอกจากนี้ผลก็มีสรรพคุณรักษาเบาหวานได้เช่นกัน (ราก,เปลือกราก,ใบ,ผล)[2],[3],[8]
ใบอ่อนหรือแก่นำมาทำเป็นชาเขียว ใช้ชงกับน้ำดื่มช่วยลดไขมันในเลือด (ใบ)[3]
ช่วยขับน้ำในปอด (เปลือกราก)[2]
กิ่งหม่อนมีสรรพคุณช่วยทำให้ลำไส้ทำงานได้ดี ช่วยจัดความร้อนในปอด และกระเพาะอาหาร ช่วยขจัดการหมักหมมในกระเพาะอาหารและเสลดในปอด (กิ่ง)[8]
ผลมีสรรพคุณช่วยแก้อาการท้องผูก (ผล)[2]
ผลนำมาต้มกับน้ำหรือเชื่อมกินเป็นยาเย็น ยาระบายอ่อน ๆ และมีเมล็ดที่ช่วยเพิ่มกากใยอาหาร (ผล)[3],[4] ส่วนเปลือกต้นก็มีสรรพคุณเป็นยาถ่าย ยาระบายเช่นกัน (เปลือกต้น)[3],[4]
เปลือกต้นใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ (เปลือกต้น)[3],[4] รากช่วยขับพยาธิ (ราก)[4]
เปลือกรากมีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะ (เปลือกราก)[2]
กิ่งหม่อนมีสรรพคุณช่วยรักษาอาการปัสสาวะสีเหลือง มีกลิ่นฉุนอันเกิดจากความร้อนภายใน (กิ่ง)[8]
ผลเป็นยาเย็นที่ออกฤทธิ์ต่อตับและไต มีสรรพคุณช่วยบำรุงตับและไต (ผล)[1],[2],[4]
ช่วยรักษาตับและไตพร่อง (ผล)[2]
รากมีสรรพคุณเป็นยาสมาน (ราก)[4]
ใบนำมาอังไฟและทาด้วยน้ำมันมะพร้าว ใช้วางบนแผลหรือตำใช้ทาแก้แมลงกัด (ใบ)[4]
ใบใช้ผสมกับหอมหัวใหญ่เป็นยาพอกรักษาแผลจากการนอนกดทับ (ใบ)[4]
ใบใช้เป็นยาแก้อาการติดเชื้อ (ใบ)[4]
ช่วยลดอาการบวมน้ำที่ขา (เปลือกราก)[2]
ช่วยแก้ข้อมือข้อเท้าเกร็ง แก้โรคปวดข้อ ไขข้อ (ผล)[2],[4],[8]
ช่วยแก้แขนขาหมดแรง (ราก)[4]
กิ่งหม่อนมีรสขมเป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อตับ ใช้เป็นยาขับลมชื้นแก้ข้ออักเสบเนื่องจากลมชื้นเกาะติด หรือลมร้อนที่ทำให้ปวดแขน ขาบวม หรือมือเท้าแข็งเกร็ง เส้นตึง (กิ่ง)[2] ช่วยรักษาอาการปวดมือ เท้าเป็นตะคริว เป็นเหน็บชา ด้วยการใช้กิ่งหม่อนและโคนต้นหม่อนเก่า ๆ นำมาตัดเป็นท่อน ๆ ผึ่งไวให้แห้ง แล้วนำมาต้มกิน (กิ่ง)[8]
ช่วยบำรุงเส้นผมให้ดกดำ (ผล)[8]
ส่วนในประเทศจีนจะใช้เปลือกราก กิ่งอ่อน ใบ และผล เป็นยาบำรุง แก้โรคเกี่ยวกับทรวงอก แก้ไอ หืด วัณโรคปอด ขับปัสสาวะ การสะสมน้ำในร่างกายผิดปกติ และโรคปวดข้อ (เปลือกราก,กิ่งอ่อน,ใบ,ผล)[4]
หมายเหตุ : วิธีใช้ตาม [2] เปลือกรากแห้ง ให้ใช้ครั้งละ 6-15 กรัม ส่วนใบแห้งให้ใช้ครั้งละ 6-15 กรัม, ส่วนผลแห้งให้ใช้ครั้งละ 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือใช้เข้าตำรับยาตามที่ต้องการ
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของหม่อน
เปลือกรากของต้นหม่อน พบว่ามีสาร Betulinic acidm Mulberrinm Mulberrochromene, B-amyrin, Cyclomulberrin, Cyclomulberrochromene, Undecaprenol, Dodecaprenol, ยาง, น้ำตาลกลูโคส เป็นต้น[2]
กิ่งหม่อน พบว่ามีสาร Morin, Maclurin, 4-tetrahydroxybenzophenone, กลูโคส Adenine เป็นต้น[2]
ใบหม่อน พบว่ามีสาร Adenine, Amylase, Choline, Crocarotene, Isoquercutrin, Succinic acid, Trigonelline, วิตามินเอ, วิตามินบี, วิตามินบี2, วิตามินซี, แร่ธาตุ, แคลเซียม, กลูโคส, แทนนิน เป็นต้น และยังพบสาร Bioflavonoid และสาร Glycoprotein, Moran A เป็นสารลดน้ำตาลในเลือด[2],[3] ส่วนอีกข้อมูลหนึ่งระบุว่าใบมีสารในกลุ่มอัลคาลอยด์ (ได้แก่ calystegin B-2, 1-deoxy ribitol, fagomine, nojirimycin, zeatin riboside), สารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ (ได้แก่ albafuran C, astragalin, aromadendrin, chalcomoracin, kaempferol, kuwanol, kuwanon, quercetin, quercitrin, moracetin, morin, rutin), สารในกลุ่มคูมาริน (ได้แก่ bergapten, marmesin, scopoletin, umbelliferone), สารในกลุ่มลิกแนน (ได้แก่ broussonin A, broussonin B)[5]
ผลหม่อน พบว่ามีสาร Saccharides 27%, Citric acid 3%, กลูโคส, แทนนิน, เกลือแร่, วิตามินเอ, วิตามินบี, วิตามินซี, แคลเซียม, และ Cyanidin เป็นต้น ส่วนเมล็ดหม่อนพบ Urease[2],[3]
เนื้อไม้พบสาร Morin ส่วนลำต้นประกอบไปด้วย SteroidalSapogenin เปลือกพบ α-amyrin[3]
จากการทดลองกับหนูขาว พบว่าสารจาดใบและกิ่งหรือเปลือกหม่อน ไม่ว่าจะนำมาต้มเป็นน้ำหรือนำไปสกัดเป็นผง ก็ล้วนแต่มีประสิทธิภาพในการลดความดันโลหิตของหนูทดลองได้ อีกทั้งยังพบว่ามีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ[2]
สารสกัดจากใบหม่อนมีสารในกลุ่ม Flavonoids โดยในขนาด 581.7 มก./กก. ของน้ำหนักสารสกัดแห้ง เมื่อนำมาทดสอบกับหนูถีบจักรที่ถูกชักนำให้มีระดับไขมันในเลือดสูง พบว่าระดับของ Triacylglycerol, Total Cholesterol, Low density lipoprotein cholesterol ลดจาก 540, 464 และ 200 มก./มล. ตามลำดับ และยังพบว่ามีประสิทธิภาพหลังจากให้กินเป็นเวลา 12 ชั่วโมง จะดีกว่าที่เวลา 6 ชั่วโมง ในขณะที่อัตราส่วนของ High density lipoprotein cholesterol ต่อ Triacylglycerol และ High density lipoprotein cholesterol ต่อ Low density lipoprotein cholesterol เพิ่มขึ้นจาก 0.33 และ 0.52 เป็น 0.42 และ 0.57 ตามลำดับ[3]
หม่อนและสมุนไพรอีกสองชนิด มีความเกี่ยวข้องกับการควบคุมระบบของความดันโลหิต นักทดลองสันนิษฐานว่า ส่วนผสมที่เรียกว่า ob-x หรือยาที่มีส่วนของสมุนไพรทั้งสามชนิด สามารถช่วยปรับปรุงการเผาผลาญไขมันในร่างกายและมีการมีน้ำหนักเพิ่มได้ ซึ่งหนูทดลองที่ได้กินอาหารที่มีไขมันสูงเป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ พบว่ามีน้ำหนักและ Tissue mass เพิ่มขึ้น โดยากรเปรียบเทียบกับหนูที่ได้กินอาหารที่มีไขมันต่ำ ในทางกลับกัน การกินอาหารที่มีไขมันสูงที่ผสมกับยา ob-x ยังช่วยลดการไหลเวียนและระดับของ Triglyceride และ Total cholesterol อีกด้วย อีกทั้งยังช่วยยับยั้งการเกิดไขมันจับตัวได้อีกด้วย จากผลการทดสอบพบว่าหม่อนหรือสาร ob-x ได้ช่วยในการควบคุมน้ำหนักไม่ให้เพิ่มขึ้นได้ และยังช่วยส่งเสริมการสลาย Tissue mass และไขมันในระบบไหลเวียนของเลือดได้ด้วย[3]
จากการทดลองที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี ค.ศ.2007 ได้ทำการศึกษาปฏิกิริยาของใบหม่อนกับระดับ Glucose ในเลือด และความปลอดภัยในการบริโภค โดยการทดสอบกับกลุ่มอาสาสมัครนั้น มีผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดปกติ 5 คน และกลุ่มที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเล็กน้อย 8 คน เมื่ออาสาสมัครทั้งหมดได้กินใบหม่อนจำนวนครั้งละ 1.8 กรัม วันละ 3 ครั้ง กับน้ำ เป็นระยะเวลา 3 เดือน พบว่ากลุ่มแรกมีระดับน้ำตาลในเลือดและ HbAIC อยู่ที่ 86-91 mg./dl. และ 4.7% ไม่มีการเปลี่ยนแปลงหลังจาก 3 เดือน ส่วนอีกกลุ่ม (กลุ่มที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเล็กน้อย) นั้นมีระดับน้ำตาลและ HbAIC ลดลงอย่างเห็นได้ชัดจากประมาณ 153 mg./dl. และ 6.3% ลดลงเหลือ 106 mg./dl. และ 5.9% อีกทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงของผลเลือดและปัสสาวะ ได้แก่ Total cholesterol (จาก 203 เหลือ 189 mg./dl.), Triglyceride (จาก 150 เหลือ 103 mg./dl.), และ Urea acid (จาก 5.2 เหลือ 4.9 mg./dl.) มาสู่ระดับปกติหลังจากการกินใบหม่อน และไม่พบว่ามีผลข้างเคียงแต่อย่างใด จึงสรุปได้ว่าใบหม่อนมีผลต่อ Hyperglycemic ด้วยการลดระดับน้ำตาลลง อีกทั้งยังไม่มีผลข้างเคียงในระยาวอีกด้วย[3]
เมื่อปี ค.ศ.2007 ที่ประเทศจีนได้ทำการทดลองผลการลดไขมันของสารสกัดจากใบหม่อน โดยทำการทดลองในหนูทดลอง ด้วยการให้สารสกัด M-F 581 มิลลิกรัม ซึ่งได้มาจากใบหม่อน โดยใช้เวลานาน 12 ชั่วโมง พบว่าสามารถลดระดับ Triglyceride จาก 388 มิลลิกรัม เหลือ 257 มิลลิกรัมได้[3]
เมื่อปี ค.ศ.2007 ที่ประเทศญี่ปุ่น ได้ทำการศึกษาเพื่อทดสอบผลตัวยับยั้งในหนูทดลองขนาดเล็กของ Disacharidase enzyme ในลำไส้เล็ก และ Deoxynojirimycin ที่มีอยู่ในผงของใบหม่อน แม้ว่าปฏิกิริยาการยับยั้ง Maltase ของชาและใบหม่อนจะมีผลใกล้เคียงกัน แต่ผลการยับยั้ง Sucrose นั้น ใบหม่อนจะมีมากกว่าชาถึง 10 เท่า โดยปริมาณ Deoxynojirimycin ในใบหม่อน คือ 128±12 กิโลกรัมต่อ 100 มิลลิกรัม[3]
ใบหม่อนมีฤทธิ์ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้[2] สารสกัดด้วยน้ำและสาร 2-O-?-D-galactopyranosyl-1-deoxynojirimycin จากใบหม่อนมีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดของสัตว์ทดลองที่เป็นเบาหวาน และสาร 1-deoxynojirimycin มีฤทธิ์แรงในการยับยั้งเอนไซม์ ?-glucosidase ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จึงช่วยยับยั้งการย่อยแป้งในอาหาร ทำให้ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ใบหม่อนจึงมีศักยภาพที่จะนำมาใช้ในผู้ป่วยเบาหวานและใช้ในการควบคุมน้ำหนักได้[6]
การเสริมใบหม่อนในอาหารไก่ สามารถช่วยลดอันตรายจากคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในเนื้อไก่และไข่ไก่ได้[8]
สารสกัดจากเปลือกรากหม่อน เมื่อนำมาฉีดเข้าเส้นเลือดดำของหนูขาวทดลอง พบว่า ทำให้หนูขาวมีส่วนสงบนิ่งได้ และยังพบว่าความดันโลหิตของหนูลดลง ส่วนการนำมาทดลองกับกระต่ายนั้นพบว่า หลอดเลือดหูของกระต่ายได้ขยายตัวกว้างขึ้น[2]
น้ำคั้นและสารสกัดจาใบหม่อนมีสารต้านอนุมูลอิสระอยู่หลายชนิด รวมไปถึงสารสำคัญที่เป็นตัวยับยั้ง Oxidation ของ LDL[6]
สารสำคัญที่พบในใบหม่อนมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ ช่วยปกป้องเซลล์จากการทพลายของอนุมูลอิสระ มีฤทธิ์เพิ่มระดับภูมิคุ้มกัน เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของภูมิคุ้มกันในหนูทดลอง และมีคุณสมบัติลดภาวะภูมิไวเกิน[9],[12]
จากการศึกษาการยับยั้งฤทธิ์การกลายพันธุ์ของแมลงหวี่ที่เกิดจากยูรีเทนด้วยชาใบหม่อน ด้วยการใช้น้ำชาใบหม่อนที่สกัดด้วยน้ำร้อน แล้วนำไปผสมกับอาหาร + ยูรีเทน (สารก่อกลายพันธุ์) ก่อนใช้เป็นอาหารของหนอนแมงหวี่ พบว่า ชาใบหม่อนแบบชาเขียว สามารถช่วยลดการกาอกลายพันธุ์ได้สูงถึง 61.01% และการใช้ชาใบหม่อนผสมในการหมักไก่ก่อนนำไปทด ก็สามารถช่วยลดการก่อกลายพันธุ์ได้มากถึง 40-60% ดังนั้น ชาใบหม่อนจึงน่าจะมีประโยชน์ต่อผู้บริโภคในด้านการป้องกันและลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคมะเร็งได้[8]
กิ่งหม่อนเป็นตัวยาบำรุงขนของกระต่ายและแกะได้อย่างมีประสิทธิภาพ[2]
สารสกัดจากใบหม่อนสามารถช่วยลดอาการเกร็ง อาการกระสับกระส่าย กระวนกระวาย มีพฤติกรรมก้าวร้าว ช่วยระงับความกังวล และเพิ่มเวลาการนอนในหนูทดลองได้ ซึ่งคุณสมบัติดังกล่าวสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการรักษาโรคที่มีความผิดปกติทางจิตได้[9],[10]
สารสกัดจากใบหม่อนมีคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด ได้แก่ Escherichia coli, Neisseria gonorrheae, Pseudomonas aeruginosa, Proteus vulgaricus, Staphylococcus aureus, Streptococcus faecium และเชื้อราได้แก่ Aspergillus niger, Aspergillus tamari, Fusarium oxysporum, Peniciliumoxalicum ซึ่งสอดคล้องกับคุณสมบัติของการใช้ใบหม่อนในการแพทย์แผนโบราณที่ใช้รักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ ได้แก่ ท้องร่วง ลำไส้ติดเชื้อ โรคผิวหนัง ไข้จากการติดเชื้อ การติดเชื้อในหู เป็นต้น[11]
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอื่น ๆ ได้แก่ มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ลดอาการปวดศีรษะ ตัวร้อน เป็นไข้ ไอ เจ็บคอ บำรุงผิว กำจัดหอยทาก[5] มีฤทธิ์สงบประสาท ลดอาการบวม ยับยั้งเอนไซม์ของเชื้อเอชไอวี มีฤทธิ์ต้านเชื้อรา เชื้อไรวัสที่ก่อโรคเริมที่อวัยวะเพศ[6]
จากการทดสอบความเป็นพิษ ด้วยการฉีดสารสกัดจากใบหม่อน 10% เข้าทางช่องท้องของหนูถีบจักร (ขนาด 60 เท่าของขนาดที่ใช้กับคน) เป็นระยะเวลา 3 สัปดาห์ และเมื่อให้ในขนาดสูงเกิน 250 เท่าของขนาดที่ใช้กับคน พบว่ามีพิษต่อตับ ไต และปอด ส่วนสารสกัดจากใบหม่อน ไม่ทำให้เกิดอาการระคาบเคือง ไม่ทำลายเม็ดเลือด และไม่ทำให้เกิดอาการแพ้[5]
ประโยชน์ของหม่อน
ผลสุกมีรสหวานอมเปรี้ยว สามารถนำมารับประทานได้[3],[4]
ผลหม่อนมีสาร Anthocyanins ในปริมาณมาก (เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน โรคมะเร็ง ช่วยต่อต้านอาการขาดเลือดในสมอง ฯลฯ) และยังมีสารสำคัญอื่น ๆ อีกหลายอย่าง เช่น สาร Deoxynojirimycin (ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด), กาบา (ช่วยลดความดันโลหิต), สาร Phytosterol (ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล), สาร Polyphenols (สารต้านอนุมูลอิสระที่มีประโยชน์กับร่างกาย), สารประกอบฟีนอล (สารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยต่อต้านอาการอักเสบ อาการเส้นเลือดโป่งพอง ช่วยยับยั้งเชื้อแบคทีเรียและไวรัส), สาร Quercetin และสาร Kaempferol ซึ่งเป็นสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ (เป็นสารที่ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ ความดันโลหิต ป้องกันการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือด ช่วยป้องกันการดูดซึมของน้ำตาลในลำไส้เล็ก ช่วยทำให้หลอดเลือดแข็งแรง ทำให้เลือดหมุนเวียนดี ยับยั้งการเกิดสารก่อมะเร็งเม็ดเลือด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ ช่วยยืดอายุเม็ดเลือดขาว และลดอาการแพ้ต่าง ๆ), และยังมีกรดโฟลิกสูง (ช่วยทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงเจริญได้เต็มที่ จึงช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง และยังช่วยทำให้เซลล์ประสาทไขสันหลังและเซลล์สมองเจริญเป็นปกติได้อีกด้วย) นอกจากนี้ยังมีวิตามินและแร่ธาตุ และกรดอะมิโนอีกหลายชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น แคลเซียม ธาตุเหล็ก โพแทสเซียม แมกนีเซียม โซเดียม สังกะสี วิตามินเอ วิตามินบี เป็นต้น (เมื่อผลหม่อนมีระยะสุกเพิ่มขึ้น ปริมาณของสารออกฤทธิ์ดังกล่าวข้างต้นจะมีปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย)[7],[8] อ่านประโยชน์และสรรพคุณของมัลเบอร์รี่เพิ่มเติมได้ที่ มัลเบอร์รี่ (Mulberry) สรรพคุณและประโยชน์ของมัลเบอร์รี่ 24 ข้อ !
ใบอ่อนและใบแก่สามารถนำมาทำเป็นชาเขียว ชาจีน หรือชาฝรั่งชงกับน้ำดื่มได้ โดยมีสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดไขมันในเลือด ลดความดันโลหิตสูงได้ เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันได้มีการแปรรูปใบหม่อนเป็นผลิตภัณฑ์ชา ทั้งชาเขียวและชาดำ ที่ใช้ชงกับน้ำดื่มเช้าและเย็น[3]
ยอดอ่อนใช้รับประทานได้ โดยมักนำมาใช้ใส่ในแกงแทนการใช้ผงชูรส หรือใช้รับประทานเป็นอาหารต่างผัก ส่วนชาวอีสานจะนำไปใส่ต้มยำไก่ ต้มยำเป็ด มีรสเด็ดอย่าบอกใคร[4],[8]
ผลหม่อนสามารถนำไปแปรรูปเป็นอาหารหรือผลิตภัณฑ์ได้หลายอย่าง เช่น แยม เยลลี่ ข้าวเกรียบ ขนมพาย ไอศกรีม นำมาแช่อิ่ม ทำแห้ง ลูกอมหม่อน ทำน้ำหม่อน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทไวน์ หรือไวน์หม่อน เป็นต้น[7]
ใบหม่อนเป็นพืชอาหารที่วิเศษสุดสำหรับตัวไหม หนอนไหมที่เจริญเติบโตเต็มที่จะนำโปรตีนที่ได้จากใบหม่อนไปสร้างเป็นโปรตีนแล้วผลิตเป็นเส้นไหม ซึ่งเส้นไหม จะเป็นวัตถุดิบในการผลิตผ้าไหมที่มีความสวยงามได้อีกต่อหนึ่ง โดยใบหม่อนประมาณ 108-120 กิโลกรัม สามารถเปลี่ยนเป็นรังไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้านได้ประมาณ 10-12 กิโลกรัม (ใบหม่อนมีโปรตีนประมาณ 18-28.8% ของน้ำหนักแห้ง, มีคาร์โบไฮเดรต 42.25%, ไขมัน 4.57%, ใยอาหารและเถ้า 24.03%,) นอกจากนี้ใบหม่อนยังสามารถนำมาใช้เป็นส่วนผสมในอาหารสำหรับสัตว์เอื้องได้บางชนิด และนำไปใช้เลี้ยงปลาได้อีกด้วย[3],[4],[7],[8] และวัวควายที่กินใบหม่อนจะทำให้มีน้ำนมเพิ่มขึ้น[4]
เนื้อไม้มีสีเหลือง เนื่องจากมีสาร Morin สามารถนำมาใช้ย้อมผ้าไหม ผ้าแพรได้[3]
เยื่อจากเปลือกของลำต้นและกิ่งมีเส้นใย สามารถนำมาเป็นกระดาษได้สวยงาม เช่นเดียวกับกระดาษสา[3],[7]
ลำต้นและกิ่ง สามารถนำมาใช้เป็นไม้ในการสร้างผลิตภัณฑ์บางชนิดได้[7]
นอกจากนี้เรายังสามารถนำต้นหม่อนมาใช้ในการปลูกเพื่อจัดและประดับสวนเพื่อให้มีภูมิทัศน์ที่ดีได้ เมื่อแตกกิ่งใหม่ กิ่งจะย่อยห้อยลงตามแรงโน้มถ่วง ไม่ได้ตั้งตรงขึ้นไปเช่นพันธุ์ไม้อื่น ทำให้ดูเป็นพุ่มสวยงาม และต้นหม่อนยังทนต่อการตัดแต่ง หลังการตัดแต่งแล้วจะมีการแตกกิ่งและเจริญเติบโตเร็ว[7],[8]
หมายเหตุ : การชงชาใบหม่อนด้วยน้ำร้อนที่อุณหภูมิประมาณ 80-90 องศาเซลเซียน จะช่วยทำให้สารสำคัญต่าง ๆ ที่อยู่ในใบหม่อนละลายออกมาได้ดี และควรชงทิ้งไว้นานอย่างน้อย 6 นาที ก่อนนำมาดื่ม เพื่อให้ได้คุณค่าทางโภชนาการสูงสุด[8]
เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “หม่อน (Mon)”. หน้า 327.
หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “หม่อน”. หน้า 618.
หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “หม่อน” หน้า 194-195.
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “หม่อน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [22 ก.ค. 2014].
ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “หม่อน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [22 ก.ค. 2014].
สวนพฤกษศาสตร์คลองไผ่, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “หม่อน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/kp_bot_garden/kpb.htm. [22 ก.ค. 2014].
ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. (อุไรวรรณ นิลเพ็ชร์). “หม่อน ( Mulberry ) : พืชมากประโยชน์”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rdi.ku.ac.th/kufair50/. [22 ก.ค. 2014].
กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. (นายวิโรจน์ แก้วเรือง ผู้เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์หม่อนไหม). “หม่อน & ไหม... พืชและเส้นใยแห่งอนาคต”.
International Journal of Pharmacy & Pharmaceutical Sciences. (BANDNA DEVI, NEHA SHARMA, DINESH KUMAR, KAMAL JEET). “MORUS ALBA LINN: A PHYTOPHARMACOLOGICAL REVIEW”. (2013), 5.
Indianjournal of pharmacology. (Yadav AV, Kawale LA, Nade VS). “Effect of Morus alba L. (mulberry) leaves on anxiety in mice”. (2008), 40(1), 32.
Pakistan Journal of Nutrition. (M.O. Omidiran, R.A. Baiyewu, I.T. Ademola, O.C. Fakorede, E.O. Toyinbo, O.J. Adewumi, E.A. Adekunle). “Phytochemical analysis, nutritional composition and antimicrobial activities of white mulberry (Morus alba)”. (2012), 11(5), 456-460.
Pakistan journal of pharmaceutical. (Bharani SE1, Asad M, Dhamanigi SS, Chandrakala GK.). “IMMUNOMODULATORY ACTIVITY OF METHANOLIC EXTRACT OF MORUSALBA LINN.(MULBERRY) LEAVES”. (2010).
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Virens (Latin for greening), guilherme jofili, Ahmad Fuad Morad, gynti_46, Karen), www.gotoknow.org (by วิโรจน์)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)